ผู้นำฝรั่งเศสได้รับเกียรติให้เดินพรมแดงและต้อนรับขับสู้อย่างดี หลังเดินทางถึงอินเดียเมื่อวันพฤหัสบดี พร้อมหารือทวิภาคีร่วมกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย (ขวา) และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส โบกมือบนยานพาหนะที่นำพาพวกเขาเยี่ยมชมเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 25 มกราคม (Photo by Ludovic MARIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติด้วยพรมแดง พร้อมขบวนแสดงช้าง
หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย จะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงให้กับผู้นำฝรั่งเศสในพระราชวังของมหาราชาแห่งศตวรรษที่ 19 และมาครงได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมตรวจแถวทหารและชมพาเหรดของกองทัพอินเดียที่เต็มไปด้วยสีสัน พร้อมด้วยขบวนรถถังจำนวนมากและการแสดงเครื่องบินขับไล่
กระทรวงต่างประเทศของอินเดียกล่าวว่า รัฐบาลนิวเดลีและรัฐบาลปารีสต่างเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์" ในขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเชื่อว่าการเดินทางครั้งนี้จะยิ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งมากขึ้น
แม้ระบอบประชาธิปไตยตะวันตกจะมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอินเดีย, ความแตกต่างด้านจุดยืนในเรื่องสงครามยูเครน รวมทั้งการวางท่าทีในความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลนิวเดลีและรัฐบาลมอสโก แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปก็จำเป็นต้องพึ่งพาอินเดียในฐานะตัวถ่วงทางการทหารและเศรษฐกิจที่มีต่อจีน
ฝรั่งเศสหวังจะสร้างพันธะสัญญาทางการทหารกับอินเดีย หลังรัฐบาลของโมดีเพิ่งขอซื้อเครื่องบินรบและเรือดำน้ำที่ผลิตในฝรั่งเศสด้วยข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อีกทั้งรัฐบาลปารีสหวังจะเสนอขายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 6 เครื่องให้กับอินเดียอีกด้วย
รัฐบาลทั้งสองร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ดังนั้นในการเยือนครั้งนี้จึงมีคณะผู้แทนจากฝรั่งเศสรวมถึงนักบินอวกาศมาด้วยเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 ของเมืองชัยปุระ
ในวันศุกร์ มาครงจะร่วมชมขบวนพาเหรดทางทหารในกรุงนิวเดลี เนื่องในวันสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นการครบรอบ 75 ปีของรัฐธรรมนูญอินเดีย
ก่อนการเยือนฯ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า อินเดียถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
เมื่อปีที่แล้ว มาครงเยือนบังกลาเทศและศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในละแวกนี้ และยังได้เดินทางเยือนภูมิภาคแปซิฟิกอีกหลายแห่งเพื่อขยายความร่วมมือ
คาดว่าในการประชุมสุดยอดทวิภาคีจะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยเฉพาะในวิชาชีพนักข่าว, นักเคลื่อนไหว และชนกลุ่มน้อยทางศาสนาซึ่งได้ร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดนับตั้งแต่รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของโมดีขึ้นสู่อำนาจในปี 2557
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของโมดีถูกกล่าวหาอยู่เสมอว่าขัดขวางอิสรภาพของสื่อ โดยดัชนีชี้วัดล่าสุด อินเดียตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 161 จากทั้งหมด 180 ประเทศในด้านเสรีภาพสื่อ.