ปากีสถานเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ หลังอิหร่านโจมตีทางอากาศสังหารเด็ก 2 ราย

ปากีสถานเรียกคืนเอกอัครราชทูตจากอิหร่านเมื่อวันพุธ และขัดขวางทูตของอิหร่านไม่ให้เดินทางกลับกรุงอิสลามาบัด หลังอิหร่านโจมตีทางอากาศคร่าชีวิตเด็ก 2 คนทางตะวันตกของประเทศเมื่อวันก่อนหน้า

ฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2567 กล่าวว่า อิหร่านโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนไปยังเป้าหมายที่เป็นสำนักงานใหญ่ของกลุ่ม Jaish al-Adl ในปากีสถาน โดยอ้างเหตุในการโจมตีดังกล่าวว่า ต้องการใช้ความเด็ดขาดเพื่อตอบโต้การรุกรานความมั่นคงของประเทศ

การจู่โจมเกิดขึ้นในช่วงดึกของวันอังคาร ในปฏิบัติการทางทหารที่อิหร่านเปิดฉากโจมตีในอิรักและซีเรียต่อกลุ่มที่เรียกว่า "ขบวนการก่อการร้ายต่อต้านอิหร่าน"

อย่างไรก็ตาม ปากีสถานประณามการโจมตีดังกล่าวซึ่งใกล้กับพรมแดนร่วมของประเทศต่างๆ

"อิหร่านกระทำการละเมิดอำนาจอธิปไตยของปากีสถานอย่างโจ่งแจ้งเมื่อคืนนี้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ" มุมตัซ ซาห์รา บาลอช โฆษกหญิงของรัฐบาลอิสลามาบัดกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ

ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของปากีสถานไม่ได้ระบุว่าการโจมตีเกิดขึ้นที่ใด แต่สื่อของปากีสถานระบุว่า การโจมตีของอิหร่านเกิดขึ้นใกล้กับเมืองปันจ์กูร์ ในแคว้นบาลูจิสถานทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านี้มีพรมแดนร่วมกันโดยมีประชากรอาศัยอยู่อย่างประปรายเป็นระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตร

"การละเมิดอธิปไตยของปากีสถานเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และอาจส่งผลร้ายแรงตามมา" แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศปากีสถานระบุ และเสริมว่า การโจมตีของอิหร่านทำให้เด็กไร้เดียงสาเสียชีวิต 2 รายขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กผู้หญิง 3 คนได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศปากีสถานยังได้เรียกคืนเอกอัครราชทูตของตนจากอิหร่าน และประกาศว่าทูตของอิหร่านซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกลับไปยังกรุงเตะราน จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมายังกรุงอิสลามาบัดอีก

อิหร่านยืนยันว่า กองทัพของประเทศกำหนดโจมตีเพียงเป้าหมายที่มีต่อกลุ่มก่อการร้าย Jaish al-Adl ในปากีสถานเท่านั้น และไม่มีพลเมืองของประเทศปากีสถานตกเป็นเป้าของขีปนาวุธและโดรนของอิหร่าน

กลุ่ม Jaish al-Adl ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 และถูกอิหร่านขึ้นบัญชีดำในฐานะกลุ่มก่อการร้ายซึ่งทำการโจมตีดินแดนอิหร่านหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดเพิ่งก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจในเมือง Rask เมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอิหร่านเสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย

กระทรวงต่างประเทศอิหร่านพยายามชี้แจงผ่านกระทรวงต่างประเทศปากีสถานเมื่อวันพุธ โดยเน้นว่า "อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของปากีสถานเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะกลุ่ม Jaish al-Adl เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านความมั่นคงร่วมกันของทั้งสองประเทศ"

ก่อนหน้านี้ อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่ศูนย์บัญชาการสายลับและเป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย และเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรักมาแล้ว

การโจมตีของอิหร่านทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง โดยอิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และกลุ่มกบฏฮูตีที่สนับสนุนปาเลสไตน์ในเยเมนโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง

จีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดของอิหร่านและปากีสถาน เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอดกลั้น โดยเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่า รัฐบาลทั้งสองประเทศควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่สหรัฐฯ ตราหน้ากลุ่ม Jaish al-Adl ว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย โดยกล่าวว่ากลุ่มนี้มุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิหร่านเป็นหลัก เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเรือนที่ถูกลอบสังหาร, ลักพาตัว และระเบิดพลีชีพด้วย

เมื่อวันอังคาร อิรักเรียกคืนเอกอัครราชทูตของตนจากอิหร่าน หลังถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธร้ายแรงในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน

มีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีก 6 คนจากการโจมตีดังกล่าว ตามการระบุของสภาความมั่นคงเคอร์ดิสถาน

อิรักระบุว่าจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับ "การถูกโจมตีอธิปไตยโดยอิหร่าน"

อิหร่านปกป้องการโจมตีด้วยขีปนาวุธในอิรักและซีเรีย โดยกล่าวว่ามันเป็นปฏิบัติการแบบกำหนดเป้าหมาย และเป็นการลงโทษที่ยุติธรรมต่อผู้ที่ละเมิดความมั่นคงของสาธารณรัฐอิสลาม

หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านกล่าวว่าพวกเขาได้ทำลายศูนย์บัญชาการสายลับของระบอบไซออนิสต์ในเคอร์ดิสถาน

ทั้งนี้ อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522

สำหรับสงครามในฉนวนกาซา อิหร่านแสดงการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮามาสชาวปาเลสไตน์ และยกย่องการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่าเป็นความสำเร็จ แต่ตนเองก็ปฏิเสธการมีส่วนร่วมโดยตรงใดๆมาตลอด

ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยดึงดูดกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเลบานอน, อิรัก, ซีเรีย และเยเมน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น

ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว