ว่าที่ผู้นำไต้หวันหวังสานต่อความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับสหรัฐฯ

ว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง ยกย่องความร่วมมืออันแข็งแกร่งของเกาะแห่งนี้กับรัฐบาลวอชิงตัน หลังต้อนรับการมาเยือนของคณะผู้แทนสหรัฐฯ

ไล่ ชิงเต๋อ (ขวา) ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน จับมือกับสตีเฟน แฮดลีย์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการจากสหรัฐ ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 15 มกราคม (Photo by Taiwan's Democratic Progressive Party (DPP) / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 กล่าวว่า ไล่ ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของคณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งมาเพื่อแสดงความยินดี ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในกรุงไทเป

คณะผู้แทนฯประกอบด้วยอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และอดีตรองเลขาธิการแห่งรัฐ พร้อมทั้งประธานสถาบันอเมริกันแห่งไต้หวัน ซึ่งถือเป็นสถานทูตสหรัฐฯ โดยพฤตินัยประจำเกาะแห่งนี้

ไล่ ชิงเต๋อ กล่าวยกย่องจุดยืนในความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งที่รัฐบาลวอชิงตันมีให้ไต้หวันเสมอมา แม้จะถูกรัฐบาลปักกิ่งคัดค้านมาตลอดก็ตาม

เขายังกล่าวอีกว่า เสรีภาพและประชาธิปไตยถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดสำหรับชาวไต้หวัน

"สิ่งเหล่านี้ยังเป็นค่านิยมหลักที่ไต้หวันและสหรัฐฯ มีร่วมกัน และเป็นรากฐานสำหรับเสถียรภาพระยะยาวในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองดินแดน" เขากล่าว พร้อมเสริมว่าการสนับสนุนอันแข็งแกร่งของสหรัฐฯมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไต้หวัน

ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้มอบสถานะทางการทูตแก่ไต้หวัน แต่รัฐบาลวอชิงตันก็ปฎิบัติตัวในฐานะพันธมิตรและเป็นผู้จัดหาอาวุธชั้นนำให้เกาะแห่งนี้เพื่อใช้ปกป้องตัวเอง

ล่าสุด ไต้หวันเพิ่งสูญเสียพันธมิตรทางการทูตอย่างเป็นทางการอีก 1 รายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เมื่อประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างนาอูรูได้ประกาศตัดความสัมพันธ์และเปลี่ยนไปจับมือกับจีนแผ่นดินใหญ่แทน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ขณะนี้เหลือเพียงแค่ 12 ประเทศที่รับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการ

รัฐบาลนาอูรูกล่าวว่าจะไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศราชอีกต่อไป แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

ขณะที่รัฐบาลไทเปยอมรับการตัดสัมพันธ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ต้องการรักษาศักดิ์ศรีของชาติ พร้อมกล่าวหาว่ารัฐบาลปักกิ่งทุ่มเงินซื้อความสัมพันธ์กับนาอูรู

"จีนติดต่อนักการเมืองนาอูรูอย่างจริงจัง และใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อชักจูงให้ประเทศเปลี่ยนการยอมรับทางการทูต" เทียน จุง-กวัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าว

สำนักประธานาธิบดีของไต้หวันเรียกการตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าเป็น "การตัดสินใจที่ผิดพลาด" และกล่าวหาจีนว่าใช้ "การปราบปรามทางการทูตเป็นการตอบโต้ค่านิยมประชาธิปไตย" พร้อมปลดธงชาตินาอูรูออกจากสำนักงานใหญ่ทางการทูตในไทเป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า การกลับมาสานสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับนาอูรูอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนในประเทศ

จีนย้ำท่าทีต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการทั้งหมดระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน รวมทั้งคัดค้านอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดก็ตามที่บ่งบอกถึงการยอมรับอย่างเป็นทางการที่มีต่อไต้หวัน.

เพิ่มเพื่อน