ชาวไต้หวันหลายล้านคนมุ่งหน้าไปคูหาเลือกตั้งในวันเสาร์ เพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีนและการจับตาจากทั่วโลก
ธงไต้หวันในการชุมนุมรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 12 มกราคม (Photo by I-Hwa CHENG / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันเริ่มขึ้นแล้ว ประชาชนหลายล้านคนมุ่งหน้าไปลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดทิศทางให้กับดินแดนของตน ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน
การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจับตาจากหลายฝ่ายทั่วโลก เพราะผู้นำคนใหม่จะมาพร้อมกับนโยบายที่อาจสร้างความร้าวฉานกับรัฐบาลปักกิ่งเพิ่มมากขึ้น หรืออาจประนีปะนอมกันในการลดความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ข้ามช่องแคบ
รัฐบาลปักกิ่งเพิ่งออกมาตราหน้ารองประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ว่าเป็น "ผู้แบ่งแยกดินแดน" ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยเตือนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ "เลือกสิ่งที่ถูกต้อง" หากพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงสงคราม
จีนแผ่นดินใหญ่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศตน โดยเกาะปกครองตนเองแห่งนี้แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ด้วยช่องแคบยาว 180 กิโลเมตร และนโยบายจีนเดียวยังคงถูกพูดถึงอยู่เสมอทุกครั้งที่รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่าจะใช้กำลังทหารยึดไต้หวันกลับมาได้ทุกเมื่อ หากจำเป็น
ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งจะถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากทั้งรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตันซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารหลักของเกาะแห่งนี้ ในขณะที่มหาอำนาจทั้งสองพยายามแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์
ในระหว่างการหาเสียง รองประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ เสนอตัวเองเป็นผู้นำที่จะปกป้องวิถีชีวิตประชาธิปไตยของไต้หวัน ขณะที่โหว โหย่วอี๋ คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ยืนยันให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับจีนแผ่นดินใหญ่และกล่าวหารัฐบาลปัจจุบันว่าทำตัวเป็นศัตรูกับรัฐบาลปักกิ่งประหนึ่งว่าไต้หวันเป็นอิสระแล้ว
โหว โหย่วอี๋ ยังกล่าวอีกว่า จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพันธมิตรระหว่างประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย
การแข่งขันครั้งนี้ยังได้เห็นการผงาดขึ้นของพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ที่มีคะแนนนิยมพุ่งพรวด โดยเคอ เหวินเจ๋อ หัวหน้าพรรคฯ กล่าวว่า เกาะแห่งนี้และจีนถือเป็น "ครอบครัวเดียวกัน" และได้นำเสนอนโยบายเป็นกลาง ด้วยความพยายามนำสันติภาพและความสมดุลมาสู่ช่องแคบไต้หวัน และชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงระหว่างรัฐบาลไทเปกับรัฐบาลปักกิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา
ทั้งสามพรรคจัดการชุมนุมครั้งสุดท้ายในคืนวันศุกร์ต่อหน้าฝูงชนหลายแสนคน
ในการเลือกตั้ง ผู้มาลงคะแนนเสียงจะทำการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติและประธานาธิบดีในคราวเดียวกัน แต่ผลสำรวจจะไม่สามารถถูกเปิดเผยได้ภายใน 10 วันหลังการเลือกตั้ง ตามกฏหมายของไต้หวัน
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า ไล่ ชิงเต๋อวัย 64 ปี น่าจะเข้าวินและกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของเขาก็น่าจะได้ที่นั่งสูงสุดในสภานิติบัญญัติ แต่คงไม่ได้ครองเสียงข้างมากแบบรัฐบาลชุดปัจจุบัน
เกาะไต้หวันตั้งอยู่บนเส้นทางทางทะเลที่สำคัญซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรแปซิฟิก และยังเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อันทรงพลังที่ผลิตไมโครชิปอันล้ำค่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และขีปนาวุธ
จีนได้เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความกังวลเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เครื่องบินรบและกองทัพเรือของจีนทำการสำรวจแนวป้องกันของไต้หวันเกือบทุกวัน และรัฐบาลปักกิ่งยังได้ทำการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ด้วยการจำลองการปิดล้อมเกาะและส่งขีปนาวุธลงสู่น่านน้ำโดยรอบ
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็เพิ่งกล่าวปราศรัยเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาว่า "การรวมไต้หวันเข้ากับจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่า หากไต้หวันถูกปิดล้อม จะทำให้เกิดอุปสรรคด้านการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กว่า 50% ของทั้งโลก และทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 70 ล้านล้านบาท).