สหรัฐอนุมัติยาเม็ดต้านโควิด 'แพ็กซ์โลวิด' ของไฟเซอร์

เอฟดีเอสหรัฐอนุมัติยาเม็ดต้านไวรัสโควิด-19 แพ็กซ์โลวิด ของไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉิน สำหรับผู้ติดเชื้ออายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะเป็นยาเม็ดรักษาโควิดชนิดแรกที่จะช่วยต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดหนักในสหรัฐ

รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีกล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ 22 ธันวาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติให้ใช้ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดต้านไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ เป็นกรณีฉุกเฉิน สำหรับใช้รักษาอาการป่วยระดับเล็กน้อยถึงปานกลางในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีอาการของโรคโควิด-19 ระดับรุนแรง

ไฟเซอร์กล่าวว่า ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกพบว่า การใช้ยาแพ็กซ์โลวิดตามสูตรมีประสิทธิภาพเกือบ 90% ในการป้องกันการรักษาตัวโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการของโรครุนแรง และจากข้อมูลในห้องแล็บเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนด้วย

เอฟดีเอระบุว่า ยาเม็ดต้านไวรัสของไฟเซอร์ชนิดนี้จะต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อ และควรเริ่มกินยาทันทีหลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยให้กินยานี้ทุก 12 ชั่วโมง ภายในเวลา 5 วัน

สูตรการกินยานี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ ยาใหม่ และยาต้านไวรัสแบบเก่าที่เรียกว่า ริโตนาเวียร์ (ritonavir) ที่มักใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไฟเซอร์ให้คำแนะนำว่าขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กินยาแพ็กซ์โลวิด ควรลดโดสของยาชนิดอื่นที่กินอยู่

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในแถลงการณ์ว่า การอนุมัติใช้ยาเม็ดต้านไวรัสโคโรนาของเอฟดีเอ เป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังทางวิทยาศาสตร์และผลของนวัตกรรมและความเฉลียวฉลาดของชาวอเมริกัน และสัญญาว่าจะแก้ไขกฎหมายเพื่อช่วยไฟเซอร์ในการเร่งผลิตยาชนิดนี้

เอฟดีเอย้ำว่า ยาเม็ดต้านไวรัสของไฟเซอร์ควรเป็นส่วนเสริมในการรับมือกับไวรัสโคโรนา ไม่ได้มาแทนที่วัคซีนโควิด-19

ไฟเซอร์เผยว่า ในปีหน้าจะเพิ่มการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดให้ได้ 120 ล้านคอร์ส จากที่ผลิตอยู่ในขณะนี้ 80 ล้านคอร์ส และพร้อมจัดส่งยาเม็ดชนิดนี้ในสหรัฐได้ทันที

ทำเนียบขาวเผยว่า รัฐบาลจัดงบ 5,300 ล้านดอลลาร์ในการซื้อยา 10 ล้านคอร์ส โดยชุดแรก 265,000 คอร์สจะได้รับส่งมอบเดือนมกราคมปีหน้า ที่เหลือจะได้รับภายในฤดูร้อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานวิจัยพบผลข้างเคียง 'วัคซีนโควิด' แต่ละ batch แตกต่างกัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนโควิด ผลข้างเคียง

น่าเป็นห่วง! 2 สัปดาห์ วัคซีนเด็กเล็กฉีดแค่ 6 พันราย

เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อาการน่าเป็นห่วง สองสัปดาห์ผ่านไป วัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปี ที่เริ่ม kick off ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ทำยอดได้เพียง 6,004 ราย จากที่ซื้อวัคซีนตัวนี้มา 3 ล้านโดส

'หมอยง' ปลื้มผลวิจัยกระตุ้นmRNAครึ่งโดส เผยแพร่วารสารโลก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีน การใช้วัคซีนขนาดครึ่งโดส mRNA