ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันปะทะคารมกันดุเดือดเมื่อวันเสาร์ เพื่อแสดงจุดยืนของพวกเขาในทิศทางความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่
(จากซ้ายไปขวา) ไล่ ชิงเต๋อ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP), โหว โหย่วอี๋ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และเคอ เหวินเจ๋อ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ถ่ายรูปร่วมกันระหว่างการดีเบตในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม (Photo by Pei Chen / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ไต้หวันจัดให้มีการดีเบตก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เปิดโอกาสให้บรรดาผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์หลักอย่างประเด็นความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่
ไต้หวันซึ่งปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย กำลังจะจัดการเลือกตั้งใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า และผลลัพธ์จากการเลือกตั้งดังกล่าวสามารถกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างรัฐบาลไทเปกับรัฐบาลปักกิ่งที่ปัจจุบันตึงเครียดอย่างหนัก
จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตน และให้คำมั่นว่าจะยึดไต้หวันด้วยกำลังหากจำเป็น และที่ผ่านมาได้ระงับการสื่อสารระดับรัฐกับฝ่ายบริหารของไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล หาเสียงด้วยการชูนโยบายแยกตัวออกจากจีน และรองประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ ซึ่งสมัครลงชิงชัยในนามพรรค ได้บรรยายตัวเองว่าเป็น "ผู้ปฏิบัติที่มุ่งเน้นเอกราชของไต้หวัน"
ในระหว่างการอภิปรายทางโทรทัศน์ ฝ่ายตรงข้ามของไล่ ชิงเต๋อซึ่งเป็นตัวเต็งประธานาธิบดีคนต่อไป ได้โจมตีเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกล่าวว่าคำพูดสนับสนุนเอกราชของเขาจะ "บ่อนทำลายความมั่นคงของไต้หวัน"
แต่ไล่ ชิงเต๋อ ยืนยันหนักแน่นว่า "อธิปไตยของไต้หวันเป็นของประชาชน 23 ล้านคนในไต้หวัน ไม่ใช่ของจีน"
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวัน โดยส่งเครื่องบินรบและเรือรบลาดตระเวนรอบๆ เกาะอยู่บ่อยๆ
นอกจากนี้ ยังมีการซ้อมรบครั้งใหญ่อีก 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การพบกันของผู้นำไต้หวันและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา
ในการดีเบตดังกล่าว ไล่ ชิงเต๋อได้โต้กลับโหว โหย่วอี๋ จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ว่าฝักใฝ่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยพรรคก๊กมินตั๋งถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่งมาตลอด
"ผมจะไม่นำไต้หวันถอยหลังเหมือนก๊กมินตั๋งที่เต็มใจจะเป็นข้าราชบริพารของลัทธิเผด็จการ มีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับนโยบายของพวกเขา และนี่ไม่ใช่เส้นทางที่ชาวไต้หวันต้องการ" ไล่ ชิงเต๋อกล่าว
โหว โหย่วอี๋ โต้กลับเช่นกันว่า ไล่ ชิงเต๋อกำลังใส่ร้ายป้ายสีเขา พร้อมชี้แจงว่าการสื่อสารและแลกเปลี่ยนกับจีนคือสิ่งที่ต้องทำ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเพิกเฉยที่จะทำ และนั่นเป็นสาเหตุที่อันตรายครั้งใหญ่จะคืบคลานมาสู่ช่องแคบไต้หวัน
นอกจากนี้ โหว โหย่วอี๋ยังเน้นย้ำแนวทางต่อต้านการประกาศเอกราชของไต้หวัน และสนับสนุนนโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน ซึ่งเป็นหลักการปกครองที่รัฐบาลปักกิ่งใช้กับฮ่องกงและมาเก๊า
ขณะเดียวกัน ไล่ ชิงเต๋อยังวิพากษ์วิจารณ์เคอ เหวินเจ๋อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ที่กล่าวว่าเกาะแห่งนี้และจีนถือเป็น "ครอบครัวเดียวกัน"
เคอ เหวินเจ๋อ และพรรคขนาดเล็กของเขาได้นำเสนอนโยบายเป็นกลาง ด้วยความพยายามนำสันติภาพและความสมดุลมาสู่ช่องแคบไต้หวัน และชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงระหว่างรัฐบาลไทเปกับรัฐบาลปักกิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา โดยภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นคือการฝักใฝ่รัฐบาลวอชิงตัน ส่วนพรรคฝ่ายค้านก๊กมินตั๋งนั้นก็ดูเหมือนจะเอนเอียงเข้าหารัฐบาลปักกิ่ง.