ชาวอาร์เจนตินาประท้วงต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่

ชาวอาร์เจนตินาหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนถนนในกรุงบัวโนสไอเรสเมื่อวันพุธ เพื่อประท้วงคำสั่งปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบและการยกเลิกกฎระเบียบต่างๆตามนโยบายของประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิลเล

ตำรวจปราบจลาจลปะทะกับผู้ประท้วงจากสหภาพแรงงานอาร์เจนตินา ที่แสดงออกถึงการต่อต้านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิลเล ในกรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม (Photo by Luis ROBAYO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ชาวอาร์เจนตินาหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนถนนในกรุงบัวโนสไอเรส เพื่อประท้วงนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของ
ประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิลเล ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง

ผู้ประท้วงที่เดินขบวนตามคำสั่งของสหภาพแรงงาน เรียกร้องให้ศาลเข้าแทรกแซงนโยบายดังกล่าว เพื่อทำให้กฤษฎีกายกเลิกการคุ้มครองแรงงานและผู้บริโภคเป็นโมฆะ หลังจากประธานาธิบดีคนใหม่มุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบและยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้

สภาคองเกรสของอาร์เจนตินาจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาแผนปฏิรูปดังกล่าวตามคำร้องขอของประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิลเล ผู้มีแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 17 วัน

กฤษฎีกาที่เสนอโดยมิลเลจะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกฎระเบียบทางเศรษฐกิจมากกว่า 350 ฉบับในประเทศที่คุ้นเคยกับการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลมาตลอด รวมทั้งการยกเลิกเพดานราคาค่าเช่า, ยกเลิกการคุ้มครองแรงงาน และยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคจากการเพิ่มราคาสินค้าอย่างไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ แง่มุมอื่นๆ ของกฤษฎีกาดังกล่าวยังระบุให้มีการยุติการเพิ่มเงินบำนาญแบบอัตโนมัติ, ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิในการนัดหยุดงาน และลอยตัวการกำหนดราคาบริการด้านสุขภาพของเอกชน รวมไปถึงการยกเลิกสัญญาราชการราว 7,000 ฉบับ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ

ปัจจุบัน เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อต่อปีสูงเกิน 160% และระดับความยากจนทะลุ 40%

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พลเมืองหลายกลุ่มได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาว่ากฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"แผนการเลื่อยไฟฟ้า" ของมิลเล ทำให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนหลายครั้งแล้ว

ในการเดินขบวนล่าสุดเมื่อวันพุธ กลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงโบกธงชาติอาร์เจนตินาพร้อมชูป้ายข้อความว่า "บ้านเกิดไม่ได้มีไว้ขาย"

ขณะที่เกราร์โด มาร์ติเนซ แกนนำการเดินขบวนจากสหภาพแรงงานก่อสร้างกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เราไม่ได้ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของประธานาธิบดีมิลเล แต่เราต้องการให้เขาเคารพการแบ่งแยกอำนาจ เพราะแรงงานทั้งหลายจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตนเมื่อมีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ"

มาร์ติน ลูเซโร ครูวัย 45 ปี ซึ่งเข้าร่วมในการเดินขบวนประท้วงกล่าวว่า "กฤษฎีกาดังกล่าวจะทำลายสิทธิแรงงานทั้งหมด มิลเลควรจะเตือนตัวเองไว้ว่าชาวอาร์เจนตินาเลือกเขาให้มาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ ไม่ใช่ให้มาเป็นจักรพรรดิเหนือหัว"

ทั้งนี้ กฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันศุกร์ เว้นแต่สภาคองเกรสจะยกเลิกแผนดังกล่าวทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน