อิสราเอลเดินหน้าทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง โดยโจมตีหลายสิบเป้าหมายชั่วข้ามคืน ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วดินแดนที่ถูกปิดล้อมเพิ่มสูงขึ้น และยังไร้วี่แววการหยุดยิงรอบใหม่
กล่องบรรจุสิ่งของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถูกตั้งกองไว้รอการขนย้าย บริเวณจุดผ่านแดนเคเรม ชาลอม ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส (Photo by Mohammed ABED / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า สงครามในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสล่วงเข้าสู่วันที่ 76 แล้ว ขณะที่ยอดเสียชีวิตสองฝ่ายรวมแล้วกว่า 21,140 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน, ผู้หญิง และเด็ก นอกจากนี้ยังมีตัวประกันอีกราว 145 คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และบางส่วนได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว
อิสราเอลยืนหยัดเป้าหมายในการทำลายกลุ่มฮามาสด้วยการทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซาอย่างไม่ลดละ และส่งทหารภาคพื้นดินเข้าโจมตี ท่ามกลางวิกฤตพลเรือนปาเลสไตน์ที่มีแนวโน้มสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ
การโจมตีล่าสุดของอิสราเอลได้สังหารเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์บริเวณจุดผ่านแดนเคเรม ชาลอม ที่เพิ่งเปิดให้มีการขนส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซาแทนที่จุดผ่านแดนราฟาห์ของฝั่งอียิปต์
กองทัพอิสราเอลกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่าได้สังหารกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซาไปแล้ว 2,000 รายนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้รับรายงานว่า กองทหารอิสราเอลสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ไม่มีอาวุธอย่างน้อย 11 รายในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ขณะที่อิสราเอลไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆต่อรายงานดังกล่าว
เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เดินทางเยือนกรุงไคโร เพื่อหารือการหยุดยิงในฉนวนกาซา และต้องการให้เป็นการหยุดยิงอย่างยั่งยืนโดยที่กลุ่มฮามาสไม่สามารถคุกคามอิสราเอลได้อีกต่อไป แต่ฉนวนกาซาต้องได้รับการปกป้องและช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเดินทางไปยังจอร์แดนเพื่อเข้าเฝ้าหารือกับกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ในเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ในพื้นที่สู้รบ และจะเรียกร้องให้มีการสงบศึกและหยุดยิงถาวร
รายงานจากระบบติดตามความหิวโหยของสหประชาชาติ ระบุว่า ทุกคนในฉนวนกาซาจะต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับสูงในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า
รายงานเตือนว่า 50% ของประชากรจะเผชิญกับวิกฤตอาหารภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่อย่างน้อยหนึ่งในสี่จะตกอยู่ในภาวะภัยพิบัติ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้นัดลงมติเรียกร้องให้ยุติการสู้รบอีกครั้ง แต่ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันว่าฝ่ายใดควรรับผิดชอบติดตามการส่งมอบความช่วยเหลือ ทั้งนี้ที่ประชุมต้องการเรียกร้องให้เกิดการ "ระงับความเป็นปรปักษ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเข้าถึงด้านมนุษยธรรมได้อย่างปลอดภัยและไม่มีข้อจำกัด ตลอดจนการเร่งรัดขั้นตอนที่นำไปสู่การยุติความเป็นปรปักษ์อย่างยั่งยืน".