ไต้หวันกล่าวหาจีน 'บีบบังคับเศรษฐกิจ' จากมาตรการภาษี

ไต้หวันกล่าวหาจีนว่าแทรกแซงการเลือกตั้ง และใช้ "การบีบบังคับทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม" หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งกำหนดอัตราภาษีใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทจากเกาะแห่งนี้ เพื่อตอบโต้ทางการค้า

เรือสินค้าไต้หวัน (Photo by Sam Yeh / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนหน้า ท่ามกลางความกังวลจากการชิงชัยที่ครอบงำโดยความสัมพันธ์ระหว่างเกาะปกครองตนเองแห่งนี้กับผู้นำจีน

การตัดสินใจของรัฐบาลปักกิ่งที่จะเพิ่มภาษีเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์จีนประกาศผลการสอบสวนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน สรุปว่า การจำกัดสินค้ากว่า 2,000 รายการจากแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันถือเป็นการกีดกันทางการค้า

เพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ 12 รายการจากไต้หวัน รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก จะถูกระงับสัมปทานภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ตามที่คณะกรรมาธิการศุลกากรของสภาแห่งรัฐ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี

"ไต้หวันได้นำข้อจำกัด และมาตรการอื่นๆ ที่เลือกปฏิบัติมาใช้กับการส่งออกผลิตภัณฑ์จากแผ่นดินใหญ่โดยฝ่ายเดียว ซึ่งถือเป็นการละเมิดกรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามช่องแคบ" แถลงการณ์ระบุ

"เราหวังว่าไต้หวันจะใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อยกเลิกข้อจำกัดทางการค้าจากแผ่นดินใหญ่" คณะกรรมาธิการฯกล่าวโดยไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

รัฐบาลไทเปและปักกิ่งลงนามข้อตกลงข้ามช่องแคบครั้งสำคัญในปี 2553 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมเพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดด้านภาษีและเพื่อส่งเสริมการค้า

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการค้าระหว่างประเทศของไต้หวันกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า สินค้าส่วนใหญ่จาก 12 รายการจะถูกขึ้นภาษีจาก 0 เป็น 1-2% ภายใต้อัตราของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก

สำนักงานเจรจาการค้าของไต้หวันกล่าวถึงภาษีศุลกากรและการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์จีนว่าเป็น "การบีบบังคับทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม"

สำนักงานฯ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่งไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ แต่เมื่อประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน คิดว่าน่าจะพอรับมือได้

"หน่วยงานทั้งหมดได้รับคำสั่งให้เตรียมการอย่างเต็มที่สำหรับความเสี่ยงและความเสียหายในกรณีนี้ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมไม่ให้พึ่งพาตลาดเดียวมากเกินไป" คำแถลงของสำนักงานฯระบุ

สำนักงานฯยังกล่าวอีกว่าการสอบสวนของจีนเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้านั้น "ไม่ยุติธรรม ไม่เปิดกว้าง และไม่โปร่งใส"

"หากจีนจริงใจ ทั้งสองฝ่ายสามารถเริ่มการเจรจาได้ตลอดเวลาตามกลไกขององค์การการค้าโลกในการเผชิญหน้าและแก้ไขข้อพิพาททางการค้าร่วมกัน" คำแถลงกล่าวเสริม

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันยังประณามการเคลื่อนไหวด้านภาษีของจีนเมื่อวันพฤหัสบดี โดยเรียกว่าเป็น "ความพยายามอย่างโจ่งแจ้งที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวัน" ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 13 มกราคม

รัฐบาลปักกิ่งเพิ่มแรงกดดันทางทหาร, การทูต และเศรษฐกิจต่อไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และอ้างว่าเกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตนและจะถูกยึดคืนในสักวันหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน