ชัยชนะของสิ่งแวดล้อม! COP28 บรรลุแนวทางเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ที่ประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศที่ดูไบเห็นพ้องเปลี่ยนแปลงยุคแห่งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่พลังงานทางเลือก หลังความพยายามหารืออย่างหนักท่ามกลางแรงกดดันตลอด 13 วัน

ไซมอน สตีลล์ เลขานุการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) แถลงระหว่างการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม (Photo by Giuseppe CACACE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ประเด็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ร้อนแรงในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้บทสรุปแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ความหวังอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ

การประชุมของบรรดาสมาชิก 200 ชาติในดูไบเมื่อวันพุธ ได้เห็นพ้องกันเป็นครั้งแรกให้โลกเปลี่ยนแปลงการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อจัดการกับต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังจากหลีกเลี่ยงมานานหลายปี

หลังจากหารือเคร่งเครียดมาตลอด 13 วัน ท้ายที่สุดประเทศที่สร้างขึ้นจากความมั่งคั่งทางน้ำมันและเป็นประธานการประชุมสุดยอดครั้งนี้อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า ฉันทามติบรรลุแล้ว

สุลต่านอัล จาเบอร์ ผู้แทนพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมของยูเออี และประธานการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 กล่าวถึงข้อตกลงที่บรรลุร่วมกันว่า จะนำการเปลี่ยนแปลงเชิงปฎิบัติมาสู่ประเด็นสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมนุษยชาติแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถร่วมมือกันได้

โวปเกอ ฮุกสตรา หัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศของสหภาพยุโรปเรียกข้อตกลงนี้ว่า "ตกค้างช้านาน" โดยกล่าวว่าการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศใช้เวลาเกือบ 30 ปีกว่าจะมาถึงจุดเริ่มต้นในการสิ้นสุดของเชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่ด้วยการเจรจาของสหประชาชาติที่จำเป็นต้องมีฉันทามติ ประธานการประชุมฯ ได้ปรับเทียบข้อความอย่างระมัดระวังเพื่อให้แต่ละประเทศเข้าใจและยอมรับในรายละเอียดของข้อตกลง ทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยตรงอย่างกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ชายฝั่งต่ำและประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ และผู้เสียผลประโยชน์อย่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้นำในการดำเนินการส่งออกปิโตรเลียม

ใจความสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวคือ การระบุให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานทางเลือก ในลักษณะที่ยุติธรรม, เป็นระเบียบ และเท่าเทียม รวมทั้งการขยายการดำเนินการดังกล่าวทันทีในทศวรรษนี้ และความมุ่งมั่นที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้ได้ภายในปี 2593 เพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาฯ

ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นแล้ว 1.2 องศาฯ และนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าปี 2566 น่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 100,000 ปี เนื่องจากเกิดพายุ, ความแห้งแล้ง และไฟป่าร้ายแรงลุกลามไปทั่วโลก

บราซิล ซึ่งจะเป็นผู้นำการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แอมะซอนในปี 2568 กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยจะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

แต่จอห์น แคร์รี ผู้แทนด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ กล่าวว่า ไม่มีฝ่ายใดจะสามารถบรรลุผลสำเร็จทุกอย่างในการเจรจา และยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าโลกที่เสียหายจากสงครามสามารถมารวมตัวกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้

ขณะที่ผู้แทนจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ก็แสดงความ "ขอบคุณ" ต่อความพยายามของยูเออี โดยเรียกผลลัพธ์ครั้งนี้ว่าเป็น "ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่" เพื่อยุติการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซ และถ่านหิน ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นปริมาณ 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สภาพอากาศโลก

นักสิ่งแวดล้อมแทบทุกคนมองว่า ข้อตกลงนี้เป็นก้าวสำคัญและยังทำให้เป้าหมายระยะสั้นในการยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในปี 2593 ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้หลายคนจะเตือนว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากก็ตาม. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า