เมียนมากลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 แซงหน้าอัฟกานิสถาน ตามรายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร
เกษตรกรเมียนมากำลังดูแลทุ่งฝิ่นผิดกฎหมายในเมืองโฮปงของรัฐฉาน (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า สหประชาชาติเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดระบุว่า เมียนมากลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 แซงหน้าอัฟกานิสถาน หลังรัฐบาลตอลิบันเดินหน้าปราบปรามการค้าฝิ่นอย่างจริงจัง
รายงานล่าสุดของสำนักงานเพื่อยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยว่า ในปีนี้ เมียนมาผลิตฝิ่นได้ประมาณ 1,080 เมตริกตัน เพื่อนำไปใช้ในการผลิตเฮโรอีน
ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการผลิตฝิ่นในอัฟกานิสถานลดลงเกือบ 95% เหลือเพียง 330 เมตริกตัน เพราะกลุ่มตอลิบันที่ปกครองประเทศได้สั่งห้ามการปลูกฝิ่นตังแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว
ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ ระหว่างเมียนมา, ลาว และไทย ถือเป็นแหล่งผลิตและค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมายมายาวนาน โดยเฉพาะยาบ้าและฝิ่น
UNODC ระบุมูลค่ารวมโดยประมาณของ "เศรษฐกิจฝิ่น" ของเมียนมาว่า เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,000-2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับ 1.7%-4.1% ของจีดีพีทั้งประเทศในปี 2565 โดยปีที่แล้ว มีการผลิตฝิ่นประมาณ 790 เมตริกตันในเมียนมา
ภาวะเศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคงนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2564 ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกฝิ่น
รายงานฯระบุว่า "การเข้าถึงตลาดและโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ย่ำแย่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อาจมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของเกษตรกรในช่วงปลายปี 2565 ที่จะปลูกฝิ่นมากขึ้น ซึ่งการผลิตฝิ่นในช่วง 2 ปีหลังมานี้อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี
UNODC ยังกล่าวอีกว่า การเพาะปลูกฝิ่นในเมียนมามีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะมีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นและมีแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน บวกกับปัจจัยด้านการปรับปรุงชลประทานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชชนิดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
อัฟกานิสถานซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกมาหลายปี ต้องเผชิญกับการล่มสลายของการเพาะปลูก หลังจากทางการตอลิบันให้คำมั่นว่าจะยุติการผลิตยาผิดกฎหมาย
พืชฝิ่นคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของมูลค่าการผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของอัฟกานิสถานในปีที่แล้ว แต่พื้นที่ที่ใช้ปลูกฝิ่นลดลงจาก 233,000 เฮกตาร์ในช่วงปลายปี 2565 เหลือ 10,800 เฮกตาร์ในปี 2566
ในเมียนมา พื้นที่เพาะปลูกหลักคือรัฐฉานทางตอนเหนืออันได้รับความเสียหายจากการสู้รบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีรัฐบาลเผด็จการทหารและกองกำลังพันธมิตร
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นของรัฐฉานคิดเป็น 88% ของพื้นที่ฝิ่นทั่วประเทศทั้งหมด 41,300 เฮกตาร์
ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ผลผลิตฝิ่นโดยเฉลี่ยต่อเฮกตาร์เพิ่มขึ้นจาก 19.8 กิโลกรัมในการสำรวจปี 2565 เป็น 29.4 กิโลกรัมในปี 2566
ทั้งนี้ รัฐฉานครอบครองพื้นที่เกือบหนึ่งในสี่ของเมียนมา และมีหุบเขาลึกและเนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งสหประชาชาติกล่าวว่าเป็นศูนย์กลางยาบ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเป็นที่ตั้งของคาสิโน, ซ่อง และโรงงานอาวุธ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ที่แบ่งกันบริหารโดยหลายๆกลุ่ม
สหประชาชาติยังระบุอีกว่า การเพาะปลูกฝิ่นได้เพิ่มขึ้นในรัฐกะฉิ่นทางตอนเหนือ และในรัฐชิน ซึ่งอยู่ติดกับอินเดีย
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยึดอำนาจในปี 2564 ไม่ได้จริงจังกับการยุติการค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เหล่านี้
ขณะที่รัฐบาลทหารเองก็เคยออกมายอมรับเมื่อต้นปีนี้ว่า ความพยายามของเมียนมาในการหยุดวงจรค้ายาเสพติด ไม่อาจแก้ไขหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เผย 4 ลูกเรือประมงไทยได้กลับบ้าน 4 ม.ค.68 ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษจำคุกในข้อหารุกล้ำน่านน้ำเมียนมา ว่า การล่วงล้ำชายแดนไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล
'ภูมิธรรม' สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา 1 เดือน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภา
'มาริษ' เผย 6 ชาติประชุมแก้ปัญหาเมียนมากับเพื่อนบ้าน เป็นไปด้วยดี
นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศ (สปป.ลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย)
'โรม' จี้รัฐบาลตอบให้ชัด เมียนมาจะปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทย หลังปีใหม่คือเมื่อไหร่
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีศาลเมียนมาสั่งจำคุก 4 ลูกเรือประมงชาวไทย