ศาลอังกฤษสั่งเจ้าผู้ครองนครดูไบจ่ายอดีตชายา 2.4 หมื่นล้าน

ศาลกรุงลอนดอนมีคำสั่งให้ เชคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ จ่ายค่าเลี้ยงดูอดีตพระชายาและพระโอรส-พระธิดา เป็นเงินประมาณ 550 ล้านปอนด์ (ราว 24,538 ล้านบาท) ถือเป็นการไกล่เกลี่ยคดีฟ้องหย่ามูลค่าสูงที่สุดในอังกฤษ

แฟ้มภาพ เชคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ และเจ้าหญิงฮายา บินต์ อัลฮุสเซน ทรงร่วมชมงานแข่งม้ารอยัลแอสคอตที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีและบีบีซีเมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า เชคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มักตูม ทรงต่อสู้คดีความมายาวนานกับเจ้าหญิงฮายา บินต์ อัลฮุสเซน อดีตพระชายาที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอนกับพระธิดาพระชันษา 14 ปี และพระโอรส พระชันษา 9 ปี โดยในวันเดียวกันนี้ ศาลสูงในกรุงลอนดอนมีคำตัดสินให้เจ้าผู้ครองนครดูไบจ่ายค่าเลี้ยงดูอดีตพระชายาและองค์ทายาท เป็นเงินก้อนจำนวน 251.5 ล้านปอนด์ (11,218 ล้านบาท) และหนังสือค้ำประกันอีก 290 ล้านบาท (12,934 ล้านบาท) เป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและรักษาความปลอดภัยองค์ทายาททั้งสอง

เจ้าหญิงฮายา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของอดีตกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน ทรงพาพระธิดาและพระโอรสหนีจากดูไบมายังอังกฤษเมื่อปี 2562 โดยทรงให้เหตุผลถึงความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิต ภายหลังทรงรับทราบว่า เชคโมฮัมเหม็ด ซึ่งมีพระชันษา 72 ปี เคยทรงลักพาตัวเจ้าหญิงลาติฟาและเจ้าหญิงชัมซา พระธิดา 2 พระองค์ เพื่อบังคับให้ทั้งสองพระองค์กลับดูไบ

เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ ศาลสูงอังกฤษมีคำตัดสินว่า เชคโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย มีรับสั่งให้ใช้ซอฟต์แวร์สอดแนมโทรศัพท์ของอดีตพระชายาซึ่งมีพระชันษา 47 ปี โดยผู้พิพากษากล่าวว่า พระองค์ทรงรังควานและข่มขู่เจ้าหญิงฮายาทั้งก่อนที่เจ้าหญิงจะทรงหลบหนีมาอังกฤษและหลังจากนั้น

ในคำตัดสินเมื่อวันอังคาร ผู้พิพากษาฟิลิป มัวร์ กล่าวว่า เชคโมฮัมเหม็ด ทรงยอมรับว่าพระองค์มีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยเหตุผลได้

คดีฟ้องหย่าที่ศาลอังกฤษเคยตัดสินไกล่เกลี่ยเป็นจำนวนเงินมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 450 ล้านปอนด์ ในคดีที่ทาเทียนา อัคเมโดวา ฟ้องอดีตสามีที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านชาวรัสเซีย เมื่อปี 2559

เจ้าหญิงฮายาเคยเป็นพระชายาที่อายุน้อยที่สุดจากพระชายา 6 องค์ของเชคโมฮัมเหม็ด ทั้งสองเสกสมรสกันเมื่อปี 2547 แต่เชคโมฮัมเหม็ดทรงหย่ากับชายาองค์นี้ตามกฎหมายชะรีอะห์เมื่อปี 2562 โดยที่เจ้าหญิงไม่ได้ทรงรับรู้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณบดีนิติฯมธ.ไขข้อสงสัย 'ศาลอังกฤษ' ตัดสินคดีขายหุ้น WEH ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย3หมื่นล้าน

'ดร.มุนินทร์' ไขข้อสงสัยศาลอังกฤษปรับใช้กฎหมายไทยตัดสินให้จำเลยคดีขายหุ้น WEH จ่ายค่าเสียหาย3หมื่นล้านบาท ชี้จำเลยคนหนึ่งมีสัญชาติอังกฤษศาลสามารถปรับใช้กฎหมายไทยได้เพราะข้อพิพาทมีจุดเกาะเกี่ยวกับกฎหมายไทย