การเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มร้อนแรงในที่ประชุม COP 28 โดยที่กลุ่มโอเปกถูกจับตามองจากการพยายามขัดขวางการยุติข้อตกลงขั้นสุดท้าย
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแสดงป้ายประท้วงระหว่างการชุมนุม ที่สถานที่จัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติ COP28 ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Photo by Giuseppe CACACE / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ประเด็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มร้อนแรงในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
บทบาทของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสภาพอากาศ กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในที่ประชุมฯล่าสุด เมื่อเริ่มมีจุดยืนที่เปลี่ยนไปจากทิศทางที่ต้องการให้มีการลดการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว เนื่องจากผู้เจรจาได้จัดการประชุมอย่างยืดเยื้อโดยมีเป้าหมายเพื่อหาการประนีประนอมต่อชะตากรรมของน้ำมัน, ก๊าซ และถ่านหิน
องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ได้เติมเชื้อเพลิงลงในกองไฟหลังจากปรากฏว่า ตัวแทนจากคูเวตได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกกลุ่ม 13 รายและพันธมิตรอีก 10 รายในสัปดาห์นี้และเรียกร้องให้พวกเขา "ปฏิเสธเชิงรุก" ต่อถ้อยคำและข้อความในภาษาใด ๆ ที่สื่อถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในความเกี่ยวพันกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การขยายขนาดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วที่สุดในขณะที่ลดการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
หลายฝ่ายในระดับรัฐและเอกชนต่างวิพากษณ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกในครั้งนี้
ร่างข้อตกลงฉบับที่ 3 ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์มีการเสนอวิธีต่างๆ มากมายในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังรวมถึงตัวเลือกที่จะไม่กล่าวถึงข้อตกลงเหล่านั้นเลยในข้อความสุดท้าย
จนถึงขณะนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ต่อต้านการเลิกใช้หรือลดปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุด ตามมาด้วยอิรัก
โดยกลุ่มดังกล่าวต้องการให้มีการมุ่งเป้าหมายและให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ มากกว่ากำหนดให้ลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเฉพาะเจาะจง
แต่สมาชิกโอเปกอีกรายหนึ่งซึ่งก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม COP28 มีท่าทีประนีประนอมตลอดการเจรจา และยอมรับว่าการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้"
แม้จะมีความพยายามในการเจรจาด้วยความหวังว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกจำกัดการใช้ลง แต่ก็มีข้อกังวลว่าท้ายที่สุด ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เมื่อมีท่าทีในการถ่วงบทสรุปของการประชุมเกิดขึ้น
ทูโอเลซูลูซูลู เซดริก ชูสเตอร์ ประธานกลุ่มองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศที่มีพื้นที่ชายฝั่งต่ำและประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ (Alliance of Small Island States หรือ AOSIS) กล่าวว่า "เรากังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเนิ่นนานของการเจรจา เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่จำกัดที่เราเหลืออยู่ที่นี่ในดูไบ"
AOSIS ผลักดันอย่างหนักเพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยข้อมูลสนับสนุนที่ว่าประเทศต่างๆ ของพวกเขาอยู่ในแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังคุกคามการดำรงอยู่ของพวกเขา
"ผมขอร้องให้คุณปล่อยให้ COP28 นี้เป็นการประชุมสุดยอดที่ผู้นำของเราเป็นที่จดจำในการพลิกกระแส" ชูสเตอร์กล่าว พร้อมเสริมว่า "การก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียนนั้น ไม่สามารถทดแทนความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งขึ้นในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า