นายกรัฐมนตรีกัมพูชายืนยันจะเดินหน้าย้ายชุมชนออกจากพื้นที่นครวัดต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก แม้มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม
นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ยืนยันจะดำเนินการย้ายชุมชนหลายพันครัวเรือนออกจากนครวัดต่อไป แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนและนานาชาติจะประณามก็ตาม
รัฐบาลพนมเปญเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ชุมชนกว่า 10,000 ครัวเรือนยินยอมที่จะออกจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ “รุนตาเอก” ซึ่งเป็นชุมชนใหม่ที่สร้างขึ้นจากอดีตนาข้าวและอยู่ห่างออกไปจากถิ่นฐานเดิมประมาณ 25 กิโลเมตร
เมื่อเดือนที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหากัมพูชาว่าฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการ "บังคับขับไล่" ผู้คนออกจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ และเรียกร้องให้ระงับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวทันที
แต่ฮุน มาเนตกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การย้ายถิ่นฐานจะดำเนินต่อไปเพื่อให้นครวัดซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของประเทศ ได้รับการปกป้อง และกระตุ้นให้ชาวกัมพูชามีส่วนร่วมปกป้องสิ่งนี้มากขึ้น
“เราจะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์และดำเนินการเพื่อให้จิตวิญญาณนี้คงความสดใสต่อไปอีกหลายพันปี นี่เป็นเพียงก้าวแรกให้เราดำเนินการ” เขากล่าว พร้อมออกคำสั่งเจ้าหน้าที่ให้ป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานภายในพื้นที่มรดกโลก
ในระหว่างภารกิจมอบโฉนดที่ดินทำกินให้ประชาชนกว่า 5,000 ครัวเรือน นายกรัฐมนตรีกัมพูชายอมรับว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายถิ่นฐานที่อยู่มานานจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง"
เขาให้คำมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่รุนตาเอก พร้อมทั้งจัดให้มีรถรับส่งฟรี 10 เที่ยวต่อวันระหว่างถิ่นฐานเดิมและถิ่นฐานใหม่
ฮุน มาเนตกล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขบางประการของยูเนสโก เพื่อให้นครวัดยังดำรงสถานะเป็นมรดกโลก
องค์การนิรโทษกรรมกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอัปสราแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวและกระทรวงที่ดินกัมพูชา กำลังใช้ยูเนสโกเป็นข้ออ้างในการบังคับผู้คนให้ย้ายถิ่นฐาน
ไม่นานมานี้ ยูเนสโกเพิ่งแสดงความกังวลอย่างมากในประเด็นบังคับย้ายถิ่นฐานดังกล่าว และยืนยันว่าองค์การฯไม่เคยร้องขอหรือสนับสนุน และไม่เคยมีส่วนร่วมในการกระทำเช่นนั้น
แหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 และในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นครโบราณแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่า 2 ล้านคนต่อปี
การมาเยือนของนักท่องเที่ยวในแต่ละปีก่อให้เกิดเศรษฐกิจระดับจุลภาคในพื้นที่ จากธุรกิจแผงขายของ, ขายอาหารและของที่ระลึก เช่นเดียวกับอาชีพขอทาน และจำนวนประชากรในท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 คนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นประมาณ 120,000 คนภายในปี 2013
ทางการกัมพูชากล่าวว่าการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วยการผลิตขยะและการใช้ทรัพยากรน้ำมากเกินไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
'แอมเนสตี้' ยกเหตุผลทำไมต้องแก้ พ.ร.บ.การชุมนุม
ในช่วง พ.ศ. 2563 - 2565 การชุมนุมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย ภายใต้หัวข้อการชุมนุมแ