COP28 เห็นพ้องบรรจุความสำคัญด้านอาหารและเกษตรกรรมไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ

ประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญด้านอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศระดับสากลในการประชุม COP28 ที่ดูไบ

ภาพถ่ายหมู่ของบรรดาผู้นำและผู้แทนจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ COP28 ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (Photo by Giuseppe CACACE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค.2566 ได้บทสรุปสำคัญบางประการในวันแรกของการประชุม

กว่า 130 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่าจะบรรจุความสำคัญด้านอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศระดับสากล

ที่ประชุมเล็งเห็นว่า ระบบการผลิตอาหารซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณหนึ่งในสามที่มนุษย์สร้างขึ้น กำลังถูกคุกคามมากขึ้นจากภาวะโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

จึงเป็นที่มาให้ 134 ประเทศที่ผลิตอาหารได้กว่า 70% ของปริมาณบริโภคทั่วโลก ได้ร่วมลงนามในปฎิญญาที่ระบุว่าประเทศต่างๆ จะเพิ่มความพยายามในการบูรณาการระบบอาหารเข้ากับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

"ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศปารีสได้โดยไม่กล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบอาหาร, เกษตรกรรม และสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน" มาเรียม อัลเฮรี รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวในฐานะเจ้าภาพการประชุม

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ จะพยายามสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงในปัจจัยต่างๆ รวมถึงการระดมทุนเพิ่มขึ้น, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ที่ประชุมยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูที่ดิน, การเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดความสูญเสียด้านอาหาร

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, จีน และบราซิล ต่างเห็นพ้องร่วมลงนามด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ของที่ประชุม COP28 ระบุว่า 134 ประเทศเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 5.7 พันล้านคน และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากระบบอาหารทั่วโลก หรือคิดเป็น 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างยกย่องปฎิญญาดังกล่าวของที่ประชุมฯ แต่ก็ยังมีความกังวลต่อประเด็นบทบาทของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสภาพอากาศ เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้โดยตรง ซึ่งถือเป็นการละเลยอย่างเห็นได้ชัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ธรณ์' หวั่น ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' ไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล

'ดร.ธรณ์' เฉลย ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วย 'ปะการังฟอกขาว' ได้แค่ไหน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า