เกาหลีเหนือเตรียมประจำการอาวุธชนิดใหม่และกองกำลังทางทหารบริเวณชายแดนติดกับเกาหลีใต้ ขณะที่หน่วยข่าวกรองของโซลเผยว่าเปียงยางได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียในการส่งดาวเทียมสอดแนมของกองทัพขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ
ภาพจรวดบรรทุกดาวเทียมสอดแนม 'มันรีกย็อง-1' ที่เตรียมพร้อมก่อนถูกปล่อยจากจุดปล่อยดาวเทียมโซแฮ ในจังหวัดพย็องอันเหนือ ประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน (Photo by KCNA VIA KNS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า เกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันก่อน ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติจากพฤติกรรมละเมิดมติคว่ำบาตรของสหประชาชาติอย่างไม่กลัวเกรง
โดยสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของเกาหลีเหนือรายงานว่า เมื่อคืนวันอังคาร จรวดที่บรรทุกดาวเทียมได้ถูกปล่อยทะยานจากจังหวัดพย็องอันเหนือ ไปตามเส้นทางที่กำหนด และนำดาวเทียมลาดตระเวน 'มันรีกย็อง-1' ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ หลังจากประสบความล้มเหลว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม
นอกจากนี้รายงานข่าวยังเผยว่า ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ก็ใช้อุปกรณ์ทางอวกาศชนิดนี้ในการสอดส่องภาพฐานทัพสหรัฐฯ ในกวม เป็นการประเดิม
ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกาหลีเหนือระบุว่า พวกเขาเตรียมประจำการอาวุธชนิดใหม่พร้อมกองกำลังทางทหารบริเวณชายแดนติดกับเกาหลีใต้
ในขณะที่หน่วยข่าวกรองของรัฐบาลโซลกล่าวว่า เกาหลีเหนือได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียในการส่งดาวเทียมสอดแนมของกองทัพขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ
หน่วยข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้แถลงต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า การปล่อยดาวเทียมประสบความสำเร็จ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าดาวเทียมทำงานได้ตามที่รัฐบาลเปียงยางอ้างหรือไม่ พร้อมเสริมว่า เกาหลีเหนือได้รับคำแนะนำจากรัสเซียหลังจากคิม จองอึนได้พบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเมื่อเดือนกันยายน
"หลังการประชุมสุดยอดกับปูติน ฝ่ายเหนือได้มอบพิมพ์เขียวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยดาวเทียมดวงแรกและดวงที่สองให้กับรัสเซีย ในทางกลับกัน รัสเซียก็วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นและให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายเหนือ" หน่วยข่าวกรองฯระบุ
แม้เกาหลีเหนืออ้างว่าดาวเทียมสอดแนมใช้งานได้แล้ว แต่หน่วยข่าวกรองฯซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์เศษซากจากการปล่อยจรวดที่ล้มเหลวครั้งหนึ่งของเกาหลีเหนือและพบว่าไม่มีคุณสมบัติและความสัมพันธ์ทางการทหาร ระบุว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่น่าเป็นความจริง
"โดยปกติแล้วการพัฒนาดาวเทียมจะใช้เวลา 3 ปี คำกล่าวอ้างในปัจจุบันไม่ได้รับประกันว่าดาวเทียมของเกาหลีเหนือมีความสามารถสอดแนมได้ เว้นแต่รัฐบาลเปียงยางจะเผยแพร่ภาพถ่ายฐานทัพที่กวมได้จริงๆ" หน่วยข่าวกรองฯกล่าว
ในการตอบสนองต่อการปล่อยขีปนาวุธเพื่อส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร รัฐบาลโซลได้ระงับข้อตกลงทางทหารที่มีระยะเวลา 5 ปีในบางส่วน และส่งหน่วยลาดตระเวนพร้อมอาวุธไปประจำการบริเวณชายแดน ในสิ่งที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวว่าเป็น "มาตรการสำคัญ" ในการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์และภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งเหนือ
กระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือตอบโต้ด้วยการประณามความเคลื่อนไหวของเกาหลีใต้ว่า "ตื่นตูม" และกล่าวว่า พวกเขาจะระงับข้อตกลงทางทหารดังกล่าวทั้งหมดและจะไม่ปฎิบัติตามอีกต่อไป พร้อมเพิ่มความมั่นคงทางชายแดนของตนเองทันที
"เราจะส่งกองกำลังติดอาวุธที่ทรงพลังกว่าเคย พร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ทางทหารรูปแบบใหม่ในภูมิภาคตามแนวเส้นแบ่งเขตทหาร" กระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางเคซีเอ็นเอ
สำนักข่าวกลางฯเปิดเผยว่า ดาวเทียมสอดแนมดวงนี้จะเริ่มภารกิจลาดตระเวนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการนำดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จจะปรับปรุงความสามารถในการรวบรวมข่าวกรองของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญในความขัดแย้งทางทหาร และการปล่อยจรวดครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการเริ่มต้นการแข่งขันด้านอวกาศบนคาบสมุทร เพราะรัฐบาลโซลเองก็มีแผนการส่งดาวเทียมสอดแนมดวงแรกผ่านจรวดของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ในช่วงปลายเดือน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ของขวัญจากรัสเซีย ถึง 'คิม จอง อึน'
เริ่มจากเกาหลีเหนือส่งทหารไปสนับสนุนแนวรบของรัสเซียก่อน จากนั้นมอสโกจึงส่งมอบของขวัญพิเศษตอบแทนเปีย