ผู้ลี้ภัยโรฮีนจา 250 คนล่องเรือถึงอินโดนีเซีย ก่อนถูกผลักดันกลับลงทะเล

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาประมาณ 250 คนที่อัดแน่นอยู่บนเรือไม้ ได้ถูกชาวอินโดนีเซียปฎิเสธให้ขึ้นฝั่ง พร้อมผลักดันกลับสู่ทะเลตามเดิม

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาประมาณ 250 คนเดินทางมาถึงอินโดนีเซียทางตะวันตกด้วยเรือไม้ที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน (Photo by amanda jufrian / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า ชนกลุ่มน้อยจากเมียนมาอพยพเดินทางด้วยเรือไม้จากประเทศที่กดขี่ข่มเหง ถึงนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียเมื่อวันพฤหัสบดี แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง ก่อนจะถูกผลักดันให้ล่องเรือต่อไปในทะเลตามเดิม

หลังจากที่ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ เรือลำดังกล่าวพร้อมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาประมาณ 250 คนก็เดินทางต่ออีกหลายสิบกิโลเมตรไปทางตะวันออกสู่อาเจะห์เหนือ แต่ชาวบ้านก็ไล่พวกเขากลับออกทะเลอีกครั้ง

เมื่อถึงวันศุกร์ เรือลำดังกล่าวซึ่งมีข้อมูลว่าแล่นออกจากบังกลาเทศเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อน ก็ไม่ปรากฎให้ผู้คนในพื้นที่ได้เห็นอีก

ในแต่ละปี ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาเสี่ยงชีวิตจากการเดินทางทางทะเลที่ยาวไกลและเสี่ยงอันตราย ด้วยเรือที่บอบบาง เพื่อพยายามไปให้ถึงมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย

คริส เลวา ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนโรฮีนจาของโครงการอาระกันกล่าวว่า การปฏิเสธของชาวบ้านดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการขาดทรัพยากรของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อรองรับผู้ลี้ภัย และความรู้สึกว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองเหล่านี้ใช้อินโดนีเซียเป็นจุดผ่านแดนไปยังมาเลเซีย

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ว่าเรือลำดังกล่าว "อยู่นอกชายฝั่งอาเจะห์" และมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 200 คน พร้อมเรียกร้องให้อินโดนีเซียอำนวยความสะดวกในการขึ้นฝั่งและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

คำแถลงดังกล่าวอ้างถึงรายงานที่ระบุว่า ยังมีเรืออีกอย่างน้อย 1 ลำอยู่ในทะเล และเสริมว่าอีกไม่นานจะมีเรืออื่นๆ อีกมากที่ออกจากต้นทางเมียนมาหรือบังกลาเทศ

การเก็บรวบรวมข้อมูลของเอเอฟพีในปี 2563 เปิดเผยว่ามีการดำเนินการลักลอบขนคนเข้าเมืองมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ในบังกลาเทศไปจนถึงอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งสมาชิกของชุมชนชาวโรฮีนจาไร้สัญชาติมีบทบาทสำคัญในการค้ามนุษย์ของชุมชนตนเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับลงทะเล แต่ชาวบ้านบางส่วนได้ช่วยเหลือด้วยการมอบเสบียงให้กับคนเหล่านั้น รวมถึงอาหาร, เสื้อผ้า, น้ำมัน และยังได้ซ่อมแซมเรือให้ด้วย

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบ 600 คนได้เดินทางมาถึงทางตะวันตกของอินโดนีเซียในสัปดาห์นี้ ตามการระบุของหน่วยงานท้องถิ่น โดย 196 คนเดินทางมาถึงเมื่อวันอังคาร และ 147 คนในวันพุธ

เชื่อว่าในปีที่แล้วมีชาวโรฮีนจามากกว่า 2,000 คนพยายามเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกือบ 200 คนเสียชีวิตหรือสูญหายระหว่างการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลที่เต็มไปด้วยอันตราย ตามการระบุของหน่วยงานสหประชาชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อินโดนีเซียกลับใจยอมให้ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาขึ้นฝั่ง

โดนรุมประท้วงหนัก ทางการอินโดนีเซียเปลี่ยนใจจะยอมอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทางเรือชาวโรฮีนจาไม่ต่ำกว่า 100 คน ขึ้นฝั่ง หลังจากเตรียมผลักดันเรือของพวกเขาออกทะเลไปยังมาเลเซีย