โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบังกลาเทศ 150 แห่งปิดตัว คนงาน 11,000 คนถูกตั้งข้อหา

ประท้วงขอขึ้นค่าจ้างในบังกลาเทศยังป่วน ตำรวจตั้งข้อหากลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย 11,000 คน

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการชุมนุมในเมืองกาซีปูร์ ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน (Photo by Munir uz ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า จากเหตุวุ่นวายในการประท้วงของบรรดาคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังกลาเทศ เมื่อตำรวจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ เพื่อสลายการชุมนุมด้งกล่าวที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุด บรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังกลาเทศปิดโรงงาน 150 แห่งโดยไม่มีกำหนด ขณะที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาแบบครอบคลุมต่อคนงาน 11,000 คน ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงรุนแรงเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 3,500 แห่งในบังกลาเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของมูลค่าการส่งออก 55,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) โดยรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลกมากมาย เช่น Levi's, Zara และ H&M

แต่ค่าจ้างของแรงงานจำนวนมากจากทั้งหมด 4 ล้านคนในภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ยังได้รับในอัตราที่ต่ำมากด้วยเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 8,300 ตากา (ประมาณ 2,700 บาท)

การประท้วงรุนแรงเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปะทุขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีคนงานอย่างน้อย 3 รายเสียชีวิต และโรงงานมากกว่า 70 แห่งถูกรื้อค้นหรือได้รับความเสียหายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตามการระบุของตำรวจ

เมื่อวันอังคาร คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง 56.25% เป็น 12,500 ตากาต่อเดือน (ประมาณ 4,070 บาท) ให้แรงงานภาคธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวน 4 ล้านคนของประเทศ แต่กลุ่มแรงงานต้องการให้ปรับเพิ่มขึ้น 300% จากฐานค่าจ้างเดิม หรือเริ่มต้นที่ 23,000 ตากาต่อเดือน (ประมาณ 7,500 บาท) และสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของพวกเขาได้ปฏิเสธการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างของคณะกรรมการฯ

เมื่อวันพฤหัสบดี คนงาน 15,000 คนปะทะกับตำรวจบนทางหลวงสายหลัก และบุกยึดโรงงานตูซูกา กรุ๊ป ซึ่งเป็นโรงงานชั้นนำ พร้อมด้วยโรงงานอื่นๆ อีก 12 แห่ง

"ตำรวจได้ยื่นฟ้องประชาชนที่ไม่ปรากฏชื่อจำนวน 11,000 คนจากเหตุโจมตีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตูซูกา" โมชาร์ราฟ ฮอสเซน สารวัตรตำรวจบังกลาเทศกล่าวกับเอเอฟพี

ทั้งนี้ ตำรวจบังกลาเทศมักจะตั้งข้อหาเบื้องต้นต่อผู้คนหลายพันคนโดยไม่ระบุชื่อ หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่และความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นวิธีการปราบปรามผู้เห็นต่าง

มีรายงานว่า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 150 แห่งได้ปิดทำการอย่างไม่มีกำหนดในเมืองอุตสาหกรรมสำคัญๆ อย่างอาชูเลียและกาซีปูร์ ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงธากา เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตต่างเกรงว่าจะมีการนัดหยุดงานอย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้นอีกและจะสร้างความเสียหายมากกว่าการหยุดดำเนินการ

การประท้วงเรื่องค่าจ้างถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ต่อนายกรัฐมนตรีหญิง ชีค ฮาสินา ซึ่งปกครองประเทศด้วยความเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 2552 และบรรดาฝ่ายค้านพยายามท้าทายเธอในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก่อนสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปธ.วิปรัฐบาล' ลั่นไม่มีหน้าที่ตามจับ 'พล.อ.พิศาล' โวย 'โรม' ปั่นกระทู้ปลุกแตกแยก

'วิสุทธิ์' บอกไม่รู้ตอนนี้ 'พิศาล' อยู่ไหน วิปรัฐบาลไม่มีหน้าที่ตามจับใคร ยันไม่ได้ปกป้อง แต่ไม่มีใครใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ข้องใจ 'โรม' ตั้งกระทู้ปั่นในสภาฯ เพื่ออะไร หวั่นจุดชนวนแตกแยก