ตำรวจบังกลาเทศยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ออกมารวมตัวประท้วงและปฏิเสธการขึ้นค่าจ้างที่รัฐบาลเสนอ
คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าและนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมการประท้วง และมีการจุดไฟเผารถบัสนอกเมืองหลวงธากา ก่อนตำรวจบังกลาเทศยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าใส่เพื่อสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน (Photo by Munir uz ZAMAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า เกิดความวุ่นวายในการประท้วงของบรรดาคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังกลาเทศ เมื่อตำรวจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ เพื่อสลายการชุมนุมด้งกล่าวที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อวันอังคาร คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง 56.25% ให้แรงงานภาคธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวน 4 ล้านคนของประเทศ แต่กลุ่มแรงงานต้องการให้ปรับเพิ่มขึ้น 300% จากฐานค่าจ้างเดิม
โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 3,500 แห่งในบังกลาเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของมูลค่าการส่งออก 55,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) โดยรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลกมากมาย เช่น Levi's, Zara และ H&M
แต่ค่าจ้างของแรงงานจำนวนมากจากทั้งหมด 4 ล้านคนในภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ยังได้รับในอัตราที่ต่ำมากด้วยเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 8,300 ตากา (ประมาณ 2,700 บาท)
ตำรวจกล่าวว่า ความรุนแรงปะทุขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมกาซีปูร์ นอกเมืองหลวงธากา หลังจากที่คนงานมากกว่า 1,000 คนออกมาประท้วงบนทางหลวงเพื่อปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมการฯ
"คนงานพยายามปิดถนน และเราต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการรวมตัวของพวกเขา" อโศก กุมาร์ ปาล กาซิปูร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ กล่าวกับนักข่าวเอเอฟพี ในที่เกิดเหตุ
ตำรวจกล่าวว่า คนงานยังได้ขว้างอิฐและก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่และจุดไฟเผาบนถนนอีกด้วย
การประท้วงของแรงงานนั้นต้องการให้มีการปรับค่าจ้างให้เริ่มต้นที่ 23,000 ตากาต่อเดือน (ประมาณ 7,500 บาท) และสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของพวกเขาได้ปฏิเสธการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างของคณะกรรมการฯ
สหภาพแรงงานกล่าวว่าการขึ้นค่าจ้างของคณะกรรมการฯไม่สอดคล้องกับราคาอาหาร, ค่าเช่าบ้าน, ค่าเล่าเรียน และค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้น
ตำรวจกล่าวว่า มีคนงานอย่างน้อย 3 รายถูกสังหารนับตั้งแต่การประท้วงเรื่องค่าจ้างปะทุขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมสำคัญๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้หญิงวัย 23 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันพุธ
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 5 นายได้รับบาดเจ็บจากการประท้วงซึ่งมีผู้คนหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนน
ผู้นำสหภาพแรงงานรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่าสหภาพแรงงานถูกตำรวจข่มขู่ให้ยุติการชุมนุมประท้วงและยอมรับข้อเสนอค่าจ้าง
"สมาชิกสหภาพแรงงานรากหญ้าอย่างน้อยหกคนถูกจับกุม" ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าว แต่ยังไม่มีคำยืนยันจากฝั่งตำรวจเกี่ยวกับการจับกุมดังกล่าว
รัฐบาลวอชิงตันประณามความรุนแรงที่ใช้ต่อการประท้วงของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าชาวบังกลาเทศ และตำหนิความพยายามในการบิดเบือนภาพลักษณ์ให้คนงานเหล่านั้นและกิจกรรมสหภาพแรงงาน เป็นอาชญากร
ในแถลงการณ์ แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเรียกร้องให้คณะกรรมการดังกล่าว "ทบทวนการตัดสินใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้แน่ใจว่าจะจัดการกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นที่คนงานและครอบครัวต้องเผชิญ"
ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะกำหนดโดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากผู้ผลิต, สหภาพแรงงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านค่าจ้าง.