อินโดนีเซียเปิดตัวโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสวงหาโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่สร้างขึ้นใหม่บนอ่างเก็บน้ำด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 192 เมกะวัตต์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและหน่วยงานจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อ่างเก็บน้ำซิราตาในจังหวัดชวาตะวันตก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน (Photo by BAY ISMOYO / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ หรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,550 ล้านบาท) ซึ่งจะเป็นฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มทางเลือกมากขึ้นในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ฟาร์มโซลาร์ลอยน้ำ "ซิราตา (Cirata)" สร้างขึ้นบนอ่างเก็บน้ำขนาด 200 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,250 ไร่) ในจังหวัดชวาตะวันตก ห่างจากเมืองหลวงจาการ์ตาประมาณ 130 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายให้ 50,000 ครัวเรือน
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานในงานเปิดตัว กล่าวสุนทรพจน์ว่า "วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะในที่สุดความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ก็บรรลุผลสำเร็จแล้ว"
"เราสามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก" วิโดโดกล่าว
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติ Perusahaan Listrik Negara (PLN) และบริษัทพลังงานหมุนเวียน "Masdar" ในอาบูดาบี โดยใช้เวลาดำเนินการสร้างกว่า 3 ปี
โซลาร์ฟาร์มดังกล่าวประกอบด้วยแผง 340,000 แผง และตั้งอยู่ในพื้นที่เขียวชอุ่มที่ล้อมรอบด้วยนาข้าว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคาร Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Societe Generale และStandard Chartered
ปัจจุบันฟาร์มมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 192 เมกะวัตต์ (MWp) และผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่เมืองซิราตา
วิโดโดกล่าวว่า โครงการจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดให้เป็น 500 เมกะวัตต์ ในขณะที่เจ้าของโครงการมั่นใจว่าจะสร้างได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603
นอกจากนี้ ยังพยายามที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อแลกกับการจัดหาเงินทุนภายใต้โครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
ภายใต้แผนดังกล่าว อินโดนีเซียให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานให้เหลือระดับสูงสุด 250 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 ซึ่งจะลดลงจากระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 290 ล้านเมตริกตัน
"เราหวังว่าจะมีการสร้างพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศของเรา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำ, พลังงานลม และพลังความร้อนใต้พิภพ" วิโดโดกล่าว
แต่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแต่ละแห่งมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของพลังงานผสมในอินโดนีเซีย โดยที่ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก
อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะขยายพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ของพลังงานผสมภายในปี 2568 แต่ก็ออกตัวว่าอาจไม่บรรลุเป้าหมายนั้นได้เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ แต่ในทางปฎิบัติกลับเดินหน้าการก่อสร้างตามที่วางแผนไว้แล้ว แม้จะมีเสียงทักท้วงจากนักเคลื่อนไหวก็ตาม
อินโดนีเซียยังพยายามวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้เล่นหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในฐานะผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก
อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งนิกเกิลอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กลับต้องใช้พลังงานมหาศาลจากถ่านหินในการถลุง ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการลดมลพิษสวนทางกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลอินโดนีเซียประชุมกันครั้งแรกในเมืองหลวงนูซานตาราที่สร้างขึ้นใหม่
อินโดนีเซียกำลังสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ในป่าของเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีสภาพอากาศเป็นกลางและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้