กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เมียนมายึดด่านจำนวนหนึ่งเมื่อวันเสาร์ ขณะที่พวกเขากดดันการโจมตีรัฐบาลเผด็จการทหารทางตอนเหนือของประเทศ
กองกำลังของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ 'กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA)' ในฐานที่มั่นในป่าทางตอนเหนือของรัฐฉาน (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า การปะทะกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาและกองทัพลุกลามไปทั่วพื้นที่กว้างใหญ่ของรัฐฉานทางตอนเหนือใกล้ชายแดนจีนในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ผู้คนมากกว่า 23,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ตามการระบุของสหประชาชาติ
กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) กล่าวว่า พวกเขาได้ยึดด่านหน้าหลายสิบแห่งและเมือง 4 แห่ง รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางการค้าที่สำคัญไปยังจีน
รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า นักรบตะอางได้ยึดด่าน 2 แห่งที่ควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธใกล้ลาเสี้ยวซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฉานทางตอนเหนือ และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพเมียนมา
ขณะที่กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยฯ ระบุว่า ได้ยึดฐานทัพทหาร 3 แห่งที่อยู่ไกลออกไปทางตะวันออกแล้วเช่นกัน
รัฐบาลทหารยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปะทะเมื่อวันเสาร์ แต่เมื่อวันพฤหัสบดี โฆษกคนหนึ่งของรัฐบาลเพิกเฉยกระแสข่าวดังกล่าวและระบุว่าเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่ว่ากองกำลังชาติพันธุ์ยึดเมืองหลายแห่งในรัฐฉาน
มีรายงานว่า กองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีฐานอยู่ในรัฐกะฉิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้าร่วมการโจมตีกองทัพเมียนมาด้วย
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลทหารได้โจมตีเมืองไลซาอันห่างไกลบริเวณชายแดนจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของกองทัพกะฉิ่นอิสระ เพื่อเป็นการตอบโต้
ที่จุดตรวจถาวรในมณฑลยูนนานของจีนซึ่งอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนชีนฉวินหอขึ้นไปประมาณ 50 กิโลเมตร ตำรวจจีนกล่าวว่าขณะนี้มีเพียงผู้ที่อาศัยอยู่นอกจุดตรวจหรือคนอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตพิเศษเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าไปยังดินแดนจีนได้ เนื่องจากมีข้อกังวลด้านความปลอดภัยจากการปะทะที่กำลังเกิดขึ้นตามแนวชายแดนเมื่อเร็วๆนี้
"ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์พิเศษ" เจ้าหน้าที่จีนบอกกับเอเอฟพี "ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่มีใครเข้าไปได้"
เมื่อวันพฤหัสบดี จีนเรียกร้องให้หยุดยิงทันทีในรัฐฉาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟมูลค่าพันล้านดอลลาร์ที่วางแผนไว้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนของเมียนมาเป็นที่ตั้งของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายสิบกลุ่ม ซึ่งบางส่วนได้ต่อสู้กับทหารมานานหลายทศวรรษ ในเรื่องการปกครองตนเองและการครอบครองทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีสงครามทำลายล้างระหว่างกองทหารอาสาสมัครสนับสนุนทหารเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรม กับกลุ่มอาชญากรที่ลักลอบขนยาเสพติด, ทำธุรกิจคาสิโน ไปจนถึงการค้าประเวณีและการหลอกลวงทางไซเบอร์.