ชาวอัฟกันหลายแสนคนที่อาศัยอยู่ในปากีสถานอาจต้องเผชิญกับการควบคุมตัวและเนรเทศ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดเส้นตายให้พวกเขาออกจากดินแดนปากีสถาน จนทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่
ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานเดินทางถึงศูนย์กักกันและเตรียมออกจากปากีสถานกลับไปยังประเทศตนเอง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน (Photo by Farooq Naeem / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า ชาวอัฟกันหลายแสนคนที่อาศัยอยู่ในปากีสถานเร่งอพยพกลับประเทศ ภายหลังรัฐบาลอิสลามาบัดขู่เนรเทศหากไม่ยอมย้ายออกไปแต่โดยดีภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน
ปากีสถานระบุว่า ชาวอัฟกัน 1.7 ล้านคนที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในประเทศ จะต้องออกไปจากดินแดนโดยสมัครใจหรือไม่ก็ถูกควบคุมตัวและเนรเทศหลังพ้นเส้นตาย
จากคำประกาศเด็ดขาดดังกล่าว ชาวอัฟกันจำนวนมากขนย้ายข้าวของสัมภาระอย่างทุลักทุเลมาเข้าคิวยาวเหยียดกว่า 7 กิโลเมตร ณ จุดผ่านแดน เพื่อขอกลับไปยังอัฟกานิสถาน โดยเจ้าหน้าที่ชายแดนรายงานว่ามีผู้คนอย่างน้อย 29,000 คนกลับออกไปแล้วเมื่อวันก่อน
รายงานระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 140,000 คนได้เดินทางออกจากปากีสถานตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นตอนที่รัฐบาลรักษาการออกคำสั่งดังกล่าว ก่อนการเลือกตั้งที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคม
ศูนย์กักกัน 49 แห่ง ซึ่งบางแห่งสามารถรองรับคนได้หลายพันคน เปิดแล้วทั่วประเทศเมื่อวันพุธ เพื่อดำเนินการและส่งตัวชาวอัฟกันกลับประเทศ ตามรายงานจากสื่อของรัฐ
ชาวอัฟกันหลายล้านคนหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนีจากความขัดแย้งรุนแรงหลายครั้งในประเทศบ้านเกิด ซึ่งรวมถึงประมาณ 600,000 คนนับตั้งแต่รัฐบาลตอลิบันยึดอำนาจในเดือนสิงหาคม 2564 และมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวด
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ชาวอัฟกันที่รอย้ายถิ่นฐานใหม่ไปยังสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และแคนาดา มีความเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศหลังจากวีซ่าปากีสถานหมดอายุ
ปากีสถานกล่าวว่า การเนรเทศมีไว้เพื่อปกป้อง "สวัสดิภาพและความมั่นคง" ของตน หลังเกิดกรณีโจมตีด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง ซึ่งรัฐบาลตำหนิว่าเป็นฝีมือกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการจากอัฟกานิสถาน
รัฐบาลตอลิบันเรียกร้องปากีสถานให้ขยายเวลาแก่ชาวอัฟกันที่ไม่มีเอกสารแสดงตนอย่างถูกต้อง เพื่อลดแรงกดดันบริเวณด่านชายแดน
ทนายความและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลปากีสถานว่าใช้การข่มขู่, การละเมิด และการคุมขัง เพื่อบีบบังคับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานให้ออกจากประเทศ ตามข้อมูลที่ได้จากชาวอัฟกันหลายรายที่บอกว่ามีการจับกุมและขู่กรรโชกโดยพลการเป็นเวลาหลายสัปดาห์
"รัฐธรรมนูญของปากีสถานให้สิทธิ์แก่ทุกคนที่อยู่ในดินแดนนี้ได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม แต่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิ์นั้น" โมนิซา คาการ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองการาจี กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่าการขับไล่ชาวอัฟกันที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนในวงกว้างจากชาวปากีสถาน เนื่องจากการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยในระยะยาวทำให้เกิดภาระหนักต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 6)
แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีการเนรเทศอย่างเป็นทางการ แต่การหลบลี้หนีออกไปเพราะต้องคดีหรือโดนกดดันจากกระแสภัยการเมือง ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นการถูกเนรเทศกลายๆได้
การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 5)
การออกไปจากประเทศไทยของคุณทักษิณเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดูไม่ต่างจากการถูกเนรเทศโดยมติของพลเมืองส่วนใหญ่ในประชาธิปไตยเอเธนส์เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว
การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 4)
จะว่าไปแล้ว การที่คุณทักษิณ ชินวัตรออกจากประเทศไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และคุณยิ่งลักษณ์หนีออกจากประเทศไปทางช่องทางธรรมชาติ ก็ไม่ต่างจากการออกไปตามกลไกที่เรียกว่า ostracism
การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 3)
การลี้ภัยหรือหนีคดีและการกลับมาขอพระราชทานอภัยลดโทษของนักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ในการเมืองสมัยกรีกโบราณที่นครรัฐประชาธิปไตย
สุนัขของ 'โจ ไบเดน' ถูกเนรเทศออกจากทำเนียบขาว
อาจเพราะความซุกซนที่เกินเลยในทำเนียบขาว ทำให้ ‘คอมมานเดอร์’ สุนัขพันธุ์เยอรมันเชเพิร์ดของประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องย้ายออกไปอยู่บ้านใหม่