เจ้าหน้าที่เมียนมาเดินทางถึงบังกลาเทศเมื่อวันอังคารเพื่อพบกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ในโครงการส่งตัวกลับประเทศที่หยุดชะงักมายาวนาน และกลับมาดำเนินการต่อเพราะได้รับการสนับสนุนจากจีน
ชาวโรฮีนจาจากค่ายต่างๆ ในบังกลาเทศ รอพบกับผู้แทนจากเมียนมาเพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งตัวกลับประเทศ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม (Photo by Tanbir MIRAJ / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า บังกลาเทศเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาราว 1 ล้านคน และส่วนใหญ่หนีจากการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองทัพเมียนมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การสอบสวนของสหประชาชาติว่าเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติเหล่านี้อาศัยอยู่ในค่ายบรรเทาทุกข์ที่มีผู้คนหนาแน่น, เป็นอันตราย และขาดแคลนทรัพยากร โดยมีความพยายามหลายครั้งของหลายๆฝ่ายที่ยื่นมือช่วยเจรจาให้คนเหล่านี้ได้กลับบ้าน แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งเนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากเมียนมาและตัวผู้ลี้ภัยเอง
ล่าสุด เมียนมาส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงเมืองเทคนาฟซึ่งเป็นท่าเรือริมแม่น้ำตรงข้ามชายแดนของบังกลาเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา เพื่อพบปะกับครอบครัวชาวโรฮีนจาหลายสิบครอบครัว
"พวกเขาจะหารือเรื่องการส่งตัวชาวโรฮีนจากลับประเทศในวันนี้ พร้อมยืนยันตัวตนของแต่ละคน" ชัมซุด โดซา รองผู้บัญชาการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศบอกกับเอเอฟพี
เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวว่า เมียนมาวางแผนจะรับผู้ลี้ภัยราว 3,000 คนกลับภายในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องส่งตัวกลับประเทศ ที่มีจีนเป็นตัวกลางประสานตั้งแต่เดือนเมษายน
"เมียนมาพร้อมที่จะยอมรับพวกเขากลับ แต่ชาวโรฮีนจายังไม่พร้อมที่จะกลับไป และนั่นคือความท้าทาย" เจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศคนหนึ่งบอกกับเอเอฟพี
ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนโรฮีนจาเคยกล่าวไว้นานแล้วว่า พวกเขาจะกลับเมียนมาก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับสัญชาติและสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ในที่ดินของตนเอง
คิน หม่อง ผู้นำโรฮีนจาคนสำคัญ กล่าวกับเอเอฟพีว่า "เราต้องการกลับประเทศของเรา หากเมียนมาพาเรากลับไปยังบ้านเกิด, ให้เกียรติแก่เรา และปฏิบัติตามสิทธิทั้งหมดที่เราพึงมีพึงได้ แต่หากเราไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้น ทุกอย่างก็คงไม่เปลี่ยนแปลง"
แม้จะมีรากฐานมาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมายาวนานหลายศตวรรษ แต่ชาวโรฮีนจาในเมียนมามักถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุกจากบังกลาเทศ และถูกริบสัญชาติหลังจากที่เมียนมาหยุดรับรองความเป็นพลเมืองในปี 2558
แผนการส่งตัวกลับประเทศที่ตกลงกันไว้ในปี 2560 ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลว่าชาวโรฮีนจาจะไม่ปลอดภัยหากพวกเขาเดินทางกลับ
ความคืบหน้าหยุดชะงักโดยสิ้นเชิงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิดและหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2564.