2นักข่าวฟิลิปปินส์-รัสเซียคว้าโนเบลสันติภาพปีนี้

แฟ้มภาพ มาเรีย เรสซา นักข่าวหญิงชาวฟิลิปปินส์ (ซ้าย) และดมิตรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย (Getty Images)

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564 ประกาศมอบรางวัลให้แก่ มาเรีย เรสซา นักข่าวหญิงชาวฟิลิปปินส์ และดมิตรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกภายในประเทศของพวกเขา

สถาบันโนเบลแห่งนอร์เวย์ประกาศผลการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่กรุงออสโลเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยมอบให้แก่ มาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ และดมิตรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย สำหรับ "การต่อสู้อย่างกล้าหาญ" เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์และรัสเซีย

เบริต ไรส์-แอนเดอร์เซ็น ประธานของคณะกรรมการโนเบลสันติภาพ กล่าวว่า ทั้งสองได้รับการยกย่องสำหรับความพยายามของพวกเขาในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นเงื่อนไขก่อนหน้าสำหรับประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน ทั้งคู่ถือเป็นตัวแทนของนักข่าวทุกคนที่ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์นี้ ในโลกที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อมวลชนเผชิญกับสภาพที่อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ

มาเรีย เรสซา วัย 58 ปีร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวน "แรปป์เลอร์" เมื่อปี 2555 เธอเป็นนักวิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะสงครามยาเสพติดที่ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายพันคน เธอตกเป็นเป้าหมายการปราบปรามและดำเนินคดี นิตยสารไทม์เคยยกให้เธอเป็นบุคคลแห่งปีเมื่อปี 2561 คณะกรรมการกล่าวว่า เธอใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อ "เปิดโปงการใช้อำนาจในทางที่ผิด, การใช้ความรุนแรง และลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมที่เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์ ประเทศบ้านเกิดของเธอ"

ส่วนดมิตรี มูราตอฟ อายุ 59 ปีซึ่งร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระ "โนวายากาเซตา" คณะกรรมการกล่าวว่า เขาทำงานปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรัสเซียมายาวนานหลายสิบปีภายใต้สภาพที่ท้าทายเพิ่มมากขึ้น หนังสือพิมพ์ของเขาเป็นทัศนคติสำคัญพื้นฐานที่มีต่ออำนาจ

"หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็จะเป็นการยากที่จะส่งเสริมภราดรภาพระหว่างประเทศ, การปลดอาวุธ และระเบียบโลกที่ดีขึ้น ให้ประสบความสำเร็จได้ในยุคสมัยของเรา" ไรส์-แอนเดอร์เซ็นกล่าว

ผู้ชนะรางวัลโนเบลจะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดน (ประมาณ 38.6 ล้านบาท)

บีบีซีกล่าวว่า สถาบันโนเบลแห่งนอร์เวย์เลือกผู้ชนะทั้งสองจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 329 รายในปีนี้ โดยผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นตัวเต็งปีนี้มีอาทิ เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อน, องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)

ปีที่แล้ว รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมอบให้แก่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (ดับเบิลยูเอฟพี) จากความพยายามต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่เพื่อสันติภาพ.

เพิ่มเพื่อน