ชาวอัฟกันหลายแสนคนที่ใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมายในปากีสถานได้รับสิทธิ์ให้ออกนอกประเทศด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ถูกเนรเทศในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน (Photo by TARIQ MAHMOOD / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลอิสลามาบัดออกคำสั่งให้ชาวอัฟกันหลายแสนคนที่ลี้ภัยและใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมายในปากีสถานให้เดินทางออกนอกประเทศด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ถูกเนรเทศ
โดยมีเส้นตายภายในวันที่ 1 พ.ย. นี้
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยปากีสถานระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศต้องรับมือกับการโจมตีรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งรัฐบาลตำหนิว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการจากอัฟกานิสถานและรัฐบาลคาบูลเองก็ไม่เคยยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านั้น
ปัจจุบัน ชาวอัฟกันราว 1.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนในปากีสถาน และอีก 880,000 คนมีสถานะเป็นพลเมืองตามกฎหมาย ตามตัวเลขล่าสุดของสหประชาชาติ
แต่กระทรวงมหาดไทยฯเปิดเผยตัวเลขว่า ยังมีชาวอัฟกันอีก 1.7 ล้านคนอยู่ในปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย และผู้คนเหล่านั้นจะต้องกลับบ้านในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
"ผู้ลี้ภัยและชาวต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในปากีสถานจะได้รับสิทธิ์ให้เดินทางออกนอกประเทศภายใต้กำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 1 พฤศจิกายน" รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยปากีสถานกล่าว และเสริมว่า หากคนเหล่านั้นไม่เดินทางออกนอกประเทศไปโดยดี หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดในจังหวัดหรือรัฐบาลกลางจะทำการเนรเทศทันที
ในแถลงการณ์ที่โพสต์ล่าสุด สถานทูตอัฟกานิสถานในกรุงอิสลามาบัดระบุว่า มีชาวอัฟกันมากกว่า 1,000 คนถูกควบคุมตัวในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะอยู่ในปากีสถาน
"แม้ทางการปากีสถานเคยให้คำมั่นสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การจับกุมและคุกคามผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานโดยตำรวจในปากีสถานยังคงดำเนินต่อไป เหมือนประหนึ่งว่าประเทศนี้ต้องการขับไล่ชาวอัฟกานิสถานทุกคน" คำแถลงของสถานทูตฯระบุ
กระทรวงมหาดไทยฯยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปากีสถานจะอนุญาตให้ชาวอัฟกานิสถานเข้าประเทศได้เฉพาะผู้ที่มีหนังสือเดินทางและวีซ่าที่ยังไม่หมดอายุเท่านั้น
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา ชาวอัฟกันที่เข้าสู่ปากีสถานผ่านด่านชายแดนทางบก ได้รับอนุญาตให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนเอกสารการเดินทาง
กระทรวงมหาดไทยฯยังเตือนว่า จะมีการตรวจสอบและปราบปรามธุรกิจเถื่อนที่ชาวอัฟกันในปากีสถานเป็นเจ้าของ
"หน่วยข่าวกรองของเราจะค้นหาพวกเขา และธุรกิจของพวกเขาจะถูกรัฐบาลยึดไป พร้อมทั้งทรัพย์สินที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในระบบภาษีของประเทศอย่างถูกต้อง" กระทรวงฯกล่าว
ชาวอัฟกันหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานเป็นจำนวนหลายล้านคนในช่วงสงครามต่อเนื่องหลายทศวรรษ บางส่วนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งถูกจำกัดการเข้าถึงการศึกษา, การดูแลสุขภาพ และการจ้างงาน
ประมาณการว่ามีชาวอัฟกันประมาณ 600,000 คนเดินทางเข้าสู่ปากีสถานตั้งแต่กลุ่มตอลิบันยึดอำนาจในกรุงคาบูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 และบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่เข้มงวด
ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถานย่ำแย่นับตั้งแต่กลุ่มตอลิบันกลับมาครองอำนาจ โดยมีกลุ่มติดอาวุธโจมตีบริเวณชายแดนปากีสถานบ่อยครั้งมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยปากีสถานระบุว่า มีการระเบิดฆ่าตัวตาย 24 ครั้งตั้งแต่ต้นปี โดย 14 ครั้งในจำนวนนั้นเป็นการโจมตีโดยชาวอัฟกานิสถาน.