ไต้หวันเผยโฉมเรือดำน้ำลำแรกที่ผลิตได้เอง ในความพยายามเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลเพื่อเป็นเกราะป้องกันการรุกรานของจีนแผ่นดินใหญ่
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน (ที่ 2 จากขวาล่าง) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวเรือดำน้ำลำแรกที่ผลิตได้เองชื่อว่า "ไห่คุน" ที่บริษัทต่อเรือซีเอสบีซี คอร์ป ในเมืองเกาสง เมื่อวันที่ 28 กันยายน (Photo by Sam Yeh / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 กล่าวว่า ไต้หวันลงทุนเสริมสร้างความมั่นคงให้เกาะของตน ด้วยการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ
หลังจากเผชิญอุปสรรคในการแสวงหาเรือดำน้ำมาตลอด ท้ายที่สุด ไต้หวันได้เผยโฉมเรือดำน้ำลำแรกที่ผลิตได้เองภายใต้โครงการของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายผลิตเรือดำน้ำให้ได้ 8 ลำ
เรือดำน้ำต้นแบบลำแรกนี้มีชื่อว่า "ไห่คุน" ในภาษาจีน ซึ่งแปลว่า "สัตว์ทะเลในตำนาน" และมีชื่อเรียกว่า "นาวาล" ในภาษาอังกฤษ ได้รับการเปิดตัวที่พิธีในเมืองท่าเกาสงทางตอนใต้ของเกาะ
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน กล่าวแถลงในพิธีว่า "ประวัติศาสตร์จะจดจำวันนี้ตลอดไป"
"ในอดีต การสร้างเรือดำน้ำในประเทศถือเป็น 'ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้' แต่ทุกวันนี้ เรือดำน้ำที่ออกแบบและสร้างโดยคนของเราเองนั้นอยู่ตรงหน้าทุกคน เราทำได้แล้ว" ไช่ อิงเหวินกล่าว
เรือลำดังกล่าวได้รับการผลิตโดยบริษัทซีเอสบีซี คอร์ป ซึ่งเชี่ยวชาญด้านตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและเรือทหาร และใช้เวลาในการต่อเรือนานถึง 7 ปี
ไห่คุนมีความยาว 80 เมตร, มีน้ำหนักระวางขับน้ำประมาณ 2,500 - 3,000 ตัน และมีระบบการโจมตีด้วยตอร์ปิโดที่ผลิตโดยบริษัทของสหรัฐฯ
หลังจากนี้ ไห่คุนจะได้รับการทดสอบเดินเรือจริงในทะเล โดยไช่ อิงเหวินกล่าวว่า เรือดำน้ำลำนี้จะสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในปี 2568 แต่นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมบางคนกล่าวว่าอาจใช้เวลานานกว่านั้น
ปัจจุบัน กองทัพเรือของไต้หวันมีเรือดำน้ำที่ใช้งานอยู่ 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือประเภทปลากระโทงดาบที่ซื้อมาจากเนเธอร์แลนด์เมื่อ 40 กว่าปีก่อน
สหรัฐอเมริกาเคยอนุมัติข้อเสนอของไต้หวันในการขอซื้อเรือดำน้ำทั่วไปจำนวน 8 ลำในปี 2544 แต่การขายไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน จีนได้ทำการสร้างกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยเรือดำน้ำและเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์
ภายหลังความเคลื่อนไหวล่าสุดของไต้หวัน กระทรวงกลาโหมจีนได้ออกแถลงการณ์ตำหนิกลยุทธ์ของรัฐบาลไทเปในความพยายามสร้างกองเรือดำน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพจีนปิดล้อมเกาะแห่งนี้
"ไม่ว่าอาวุธจำนวนมากประเภทใดที่ไต้หวันสร้างหรือซื้อมา พวกเขาก็ไม่สามารถหยุดแนวโน้มของการรวมชาติได้ และจะไม่สามารถสั่นคลอนความสามารถอันแข็งแกร่งของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการปกป้องอธิปไตยของชาติได้" โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวในแถลงการณ์
มีข้อมูลว่า จีนมีเรือดำน้ำอยู่ประมาณ 60 ลำ โดย 6 ลำในนั้นใช้พลังงานนิวเคลียร์และติดตั้งขีปนาวุธ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับกองเรือที่เพิ่งเริ่มสร้างของไต้หวัน
จีนอ้างสิทธิ์มาตลอดว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน และจะยึดคืนมาให้ได้ในสักวัน แต่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของจีนเหนือเกาะแห่งนี้ ทำให้ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มแรงกดดันทางทหารและการเมือง รวมทั้งส่งเครื่องบินรบบินขู่รอบเกาะเพิ่มมากขึ้น และใช้แรงกดดันทางการทูตเพื่อโดดเดี่ยวรัฐบาลไทเปจากการยอมรับของประชาคมโลก.