คิมจองอึนบรรจุวาระนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญเปียงยาง

สภานิติบัญญัติของเกาหลีเหนือกำหนดให้สถานะอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (ตรงกลาง แถวหน้า) เข้าร่วมในการประชุมสมัชชาประชาชนในกรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 28 กันยายน (Photo by KCNA VIA KNS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาประชาชนของเกาหลีเหนือที่จัดขึ้นในวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา มีการกำหนดวาระอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นพันธสัญญาที่ต้องปฏิบัติไปตลอด

ผู้นำคิมจองอึนกล่าวในที่ประชุมฯว่า "นโยบายการพัฒนาความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้รับการกำหนดอย่างถาวรในฐานะกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดได้ และนี่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะแรงผลักดันทางการเมืองที่ทรงพลังในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ"

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบอาวุธมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาก็ตึงเครียดมาก ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลเปียงยางอาจดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

เมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมดังกล่าวได้บัญญัติกฎหมายที่ประกาศให้เกาหลีเหนือเป็นรัฐแห่งอาวุธนิวเคลียร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และห้ามการเจรจาใดๆเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะใช้การชิงโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้

การกำหนดสถานะอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้ความหวังของทั้งโลกที่ต้องการเห็นเกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ลดน้อยลงไปอีก

เกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธต้องห้ามครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูก ในช่วงเวลาที่ผู้นำคิมเดินทางไปรัสเซียเพื่อประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

ขณะที่เดือนก่อนก็เพิ่งล้มเหลวในความพยายามครั้งที่ 2 ที่จะส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร

คิมจองอึนยังกล่าวอีกว่าสหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้จัดตั้ง "พันธมิตรทางทหารไตรภาคี" ส่งผลให้เกิด "นาโตเวอร์ชันเอเชีย" ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามและต้นตอของสงครามอย่างแท้จริง

ในช่วงหลัง เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้เพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างกันผ่านการซ้อมรบร่วม และยังร่วมมือกับญี่ปุ่นในการฝึกซ้อมทางทะเลด้วยเช่นกัน ซึ่งในทุกครั้งที่มีการซ้อมรบดังกล่าว เกาหลีเหนือก็มักตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธขู่

อีกทั้งการเดินทางไปเยือนรัสเซียของคิม อาจเป็นสัญญาณของความร่วมมือด้านทหารและอาวุธของสองพันธมิตรที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรในปัจจุบัน ถือเป็นการขยายแนวร่วมหากสถานการณ์บานปลายเป็นสงคราม.

เพิ่มเพื่อน