หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ ฟ้องร้องแอมะซอน (Amazon) ในข้อหาดำเนินการผูกขาดค้าปลีกออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย ทั้งเอาเปรียบผู้ขายและขัดขวางคู่แข่ง
แอมะซอน (Amazon) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและค้าปลีกออนไลน์ (Photo by SEBASTIEN BOZON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 กล่าวว่า แอมะซอน (Amazon) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและค้าปลีกออนไลน์ ถูกหน่วยงานกำกับดูแลต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ ฟ้องร้อง โดยกล่าวหาว่าบริษัทฯดำเนินการผูกขาดอย่างผิดกฎหมาย ทั้งบีบบังคับและเอาเปรียบผู้ขาย รวมทั้งกีดกันและขัดขวางคู่แข่งทางการค้า
คดีฟ้องร้องครั้งใหญ่นี้ถือเป็นการทดสอบฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่พยายามควบคุมพลังอำนาจของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่โดยใช้ห้องพิจารณาคดีของสหรัฐฯ
"การร้องเรียนของเราระบุว่า แอมะซอนใช้กลวิธีเชิงลงโทษและบีบบังคับเพื่อรักษาการผูกขาดของตนอย่างผิดกฎหมาย" ลีนา ข่าน ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐกล่าว
คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีตัวแทน 17 รัฐของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมฟ้องร้องด้วยในคดีนี้ ระบุว่า แอมะซอนละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดใน 2 กรณี โดยทั้งสองกรณีเกี่ยวข้องกับ "ตลาดกลาง" ซึ่งเชื่อมโยงผู้ขายภายนอกกับผู้ซื้อผ่านแพลตฟอร์มของตน
ในกรณีแรก คำฟ้องอ้างว่า แอมะซอนลงโทษบริษัทที่ใช้แพลตฟอร์มของแอมะซอนในการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าที่แอมะซอนขาย โดยการลดอันดับสินค้าเหล่านั้นบนเว็บไซต์
นอกจากนี้ยังบังคับให้ผู้ขายลงนามใช้บริการลอจิสติกส์ "ราคาแพง" ของแอมะซอน เพื่อให้ได้รับโอกาสเข้าถึงลูกค้าชั้นดีในฐานข้อมูลระบบของแอมะซอน
"แอมะซอนเป็นผู้ผูกขาดที่ใช้อำนาจของตนในการเพิ่มราคาให้กับผู้ซื้อชาวอเมริกัน และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงมากจากผู้ขายออนไลน์หลายแสนราย" จอห์น นิวแมน รองผู้อำนวยการสำนักการแข่งขันของคณะกรรมาธิการฯกล่าว และเสริมว่า "แทบจะไม่มีคดีใดในประวัติศาสตร์ของกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ เลย ที่มีกรณีฟ้องร้องอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากได้เท่าครั้งนี้"
อย่างไรก็ตาม แอมะซอนตอบโต้ด้วยการปฏิเสธหลักฐานของคดีนี้อย่างขึงขัง
"การฟ้องร้องในวันนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจุดสนใจของคณะกรรมาธิการฯ ได้เบี่ยงเบนไปจากจุดประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคและการแข่งขันอย่างสิ้นเชิง" เดวิด ซาโปลสกี รองประธานอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะทั่วโลกของแอมะซอนกล่าว และเสริมว่า "มีข้อเท็จจริงในการฟ้องร้องที่ถูกบิดเบือน และเราหวังว่าจะดำเนินการต่อไปในชั้นศาล"
มีรายงานว่าคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐได้จับตาดูการดำเนินงานของแอมะซอนมา 2-3 ปีแล้ว และได้การสนับสนุนด้านข้อมูลจากกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก
สเตซี มิทเชลล์ ผู้อำนวยการบริหารร่วมของสถาบันเพื่อการพึ่งพาตนเองในท้องถิ่น กล่าวว่า "อีคอมเมิร์ซควรเป็นภาคส่วนที่มีพลวัต เพราะมีตลาดจำนวนมากที่พยายามดึงดูดทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ แต่กลับถูกครอบงำโดยบริษัทเดียว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจโดยรวม"
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแอมะซอน ฐาน "ดึงดูดผู้บริโภค" ด้วยการเชื้อเชิญให้สมัครสมาชิก 'ไพรม์ (Prime)' ซึ่งจะต่ออายุโดยอัตโนมัติและมีความซับซ้อนในการยกเลิก และยังได้โจมตีในเรื่องความเคารพต่อการรักษาความลับของข้อมูลลูกค้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' ย้ำไทยกำลังฮอต ชวนนักธุรกิจสหรัฐฯ ลงทุน-ตั้งฐานผลิตในไทย
”พิชัย“ ต้อนรับ ทัพนักธุรกิจรายใหญ่สหรัฐฯ USABC ชวนลงทุน-ตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ในไทย ย้ำ!ไทยกำลังฮอต พาณิชย์พร้อมอำนวยความสะดวกการค้า-ลงทุนเต็มที่
'อเมซอน' สนเทค 'แมนฯ ยูไนเต็ด' สื่อเผย 'ตระกูลเกลเซอร์' ตั้งราคาสุดแพง
อเมซอน (Amazon) บริษัทอีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอเมริกัน กลายเป็นรายล่าสุดที่ให้ความสนใจในการเข้ามาเทคโอเวอร์ "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากตระกูลเกลเซอร์