พิธีสวนสนามทางทหารครั้งแรกในรอบทศวรรษของเกาหลีใต้มีการจัดแสดงคลังแสงยุทโธปกรณ์ขั้นสูง คาดแสดงพลังขู่เพื่อนบ้านคู่ขัดแย้งอย่างเกาหลีเหนือ
ขบวนสวนสนามพร้อมยุทโธปกรณ์ทางทหารจัดแสดงในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 75 ปี ของกองทัพ (Photo by KIM HONG-JI / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 กล่าวว่า ในขณะที่เกาหลีเหนือมักจัดพิธีสวนสนามครั้งใหญ่เป็นประจำในทุกๆวันสำคัญ แต่พิธีดังกล่าวในฝั่งเกาหลีใต้มักหาดูได้ยาก เพราะจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี
ขบวนพาเหรดสวนสนามครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2556 เพราะใน 5 ปีถัดมา ประธานาธิบดีมุน แจอิน ในขณะนั้นเลือกที่จะจัดพิธีเฉลิมฉลองแทนพิธีทางทหาร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางประนีประนอมในการฟื้นความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ
ล่าสุด เกาหลีใต้จัดพิธีสวนสนามทางทหารอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในกรุงโซล เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 75 ปี ของกองทัพ
ทหารราว 4,000 นายเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองหลวงในบ่ายวันฝนตก โดยได้รับเสียงเชียร์จากฝูงชนที่ถือร่มเข้าร่วมชมและโบกธงชาติ
ขบวนสวนสนามมาพร้อมยุทโธปกรณ์ทางทหาร 170 ชิ้น รวมถึงโดรนทางอากาศและทางทะเล, รถถัง และขีปนาวุธ
เดิมทีจะมีการแสดงการบินของเครื่องบินรบเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบล่องหน F-35 ที่ผลิตในสหรัฐฯ แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประธานในพิธีดังกล่าว เฝ้าดูขบวนพาเหรดและปรบมือให้กับบรรดาทหาร
เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ประมาณ 300 นายก็เข้าร่วมในขบวนพาเหรดนี้ด้วย นัยว่าต้องการแสดงให้เห็นถึงรากฐานอันแข็งแกร่งของการเป็นพันธมิตรระหว่างรัฐบาลโซลกับรัฐบาลวอชิงตัน
การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของยุน ซ็อก-ยอล เขาได้นำเกาหลีใต้เข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น และพันธมิตรอันยาวนานทั้งสองชาติได้เพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหม รวมถึงการฝึกซ้อมขนาดใหญ่ร่วมกัน เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือ
โดยเกาหลีเหนือเองได้ทำการทดสอบอาวุธหลายครั้งในปีนี้ แม้ว่าจะถูกนานาชาติคว่ำบาตรก็ตาม และเฉพาะปีนี้เพียงปีเดียว รัฐบาลเปียงยางจัดพิธีสวนสนามทางทหารไปแล้ว 3 ครั้ง พร้อมอวดยุทโธปกรณ์ต่างๆ มากมาย รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป 'ฮวาซอง-17'
ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ แต่มีนโยบายภายในประเทศที่มีมายาวนานว่าจะไม่ขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆ ที่กำลังเกิดความขัดแย้ง รัฐบาลโซลจึงยืนหยัดไม่ยื่นมือจัดหาอาวุธให้ยูเครนโดยตรง และทำได้เพียงประณามการรุกรานของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม หากเกาหลีเหนือทำข้อตกลงขายอาวุธให้รัสเซียเพื่อใช้ในสงครามยูเครน เกาหลีใต้อาจทบทวนจุดยืนของตนต่อประเด็นด้านอาวุธ
เกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงส่งออกด้านกลาโหมไปแล้วมูลค่ากว่า 17,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลง 12,700 ล้านดอลลาร์กับโปแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกนาโตและพันธมิตรสำคัญผู้ส่งต่ออาวุธให้ยูเครน.