มาเลเซียจะเพิ่มการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังจีน เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันจากข้อจำกัดใหม่ของสหภาพยุโรปที่มีเป้าหมายลดการตัดไม้ทำลายป่า
คนงานกำลังเก็บผลปาล์มน้ำมันในเมืองอิจ็อก รัฐเซลังงอร์ ของมาเลเซีย (Photo by Mohd RASFAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์เผชิญกับการเริ่มบังคับใช้กฏใหม่ของสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ห้ามการน้ำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ถือเป็น "ตัวขับเคลื่อนหลักของการตัดไม้ทำลายป่า" โดยหนึ่งในนั้นคือ "น้ำมันปาล์ม"
กฎใหม่ที่ได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมาธิการยุโรปตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและเริ่มบังคับใช้ในปีนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำลายสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาหลักในกฎใหม่ระบุให้มีการรับรองว่า ชุดสินค้าหลักที่วางขายในตลาด (สหภาพยุโรป) จะไม่มีส่วนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในสหภาพยุโรปและที่อื่นๆ ในโลกอีกต่อไป และบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะอย่างเข้มงวด หากต้องการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวโทษน้ำมันปาล์มว่าเป็นต้นเหตุของการทำลายป่าฝนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองชาติมีกำลังการผลิตรวมกันมากถึง 85% ของผลผลิตทั่วโลก
ฟาดิลลาห์ ยูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซีย กล่าวกับเอเอฟพีว่า ขณะนี้ประเทศของเขากำลังเบนเป้าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นไปยังจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่
"จีนนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์มของมาเลเซีย อยู่ที่ประมาณ 3.14 ล้านตันในปี 2565 และภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า มาเลเซียจะผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ตัน" ยูซอฟกล่าว
การส่งออกเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากข้อตกลงระหว่างบริษัทผลิตน้ำมันปาล์ม Sime Darby Oils International ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในมาเลเซีย และ Guangxi Beibu Gulf International Port Group ที่บริหารโดยรัฐบาลจีน
ยูซอฟเชื่อว่าตลาดจีนจะสามารถช่วยมาเลเซียตอบโต้การกีดกันของยุโรปได้อย่างแน่นอน ประกอบกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของผู้นำเข้าจีนที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ปาล์มคุณภาพสูงซึ่งผลิตจากมาเลเซีย โดยผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ในอาหาร เช่น เค้ก, ช็อคโกแลต และมาการีน รวมถึงเครื่องสำอาง, สบู่ และแชมพู
ปัจจุบันคาดว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยังจีนจะสูงถึง 3.2 ล้านตันในปี 2566
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียไม่มีความตั้งใจที่จะหันหลังให้กับสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซียรองจากอินเดีย และมากกว่าจีนเพียงนิดเดียว
ยูซอฟตำหนิกฎระเบียบดังกล่าวว่าเป็น "อุปสรรคทางการค้าที่จำกัดการเข้าถึงตลาดอย่างเสรีและไม่เลือกปฏิบัติ" แต่รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ยังคงหวังว่าจุดยืนของอียูจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เมื่อเวลาผ่านไป
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่มาเลเซียและอินโดนีเซียกำลังล็อบบี้อียูอย่างหนักเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจะยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในกรอบเวลา 18 เดือน เพื่อให้ผู้ผลิตมีเวลาในการดำเนินการปฏิบัติตามกฎดังกล่าว
ตัวแทนจากทั้งสองประเทศมีกำหนดพบกับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปในกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อหารือใหม่ในเดือนธันวาคม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า
'นักวิชาการ' วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากป่าไม้ลดลงจริงหรือ
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊กว่า หัวข้อ น้ำท่วมเกิดจากป่าไม้ลดลงจริงหรือ? มีเนื้อหาดังนี้