เจ้าหน้าที่กู้ภัยลุยฝ่าโคลนและซากหินดินปูนเพื่อค้นหาสูญหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันขนาดเท่าสึนามิ ซึ่งพัดถล่มเมืองท่าเดอร์นาของลิเบีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 4,000 ราย
เศษหินและซากปรักหักพังของอาคารที่ถูกทำลายจากน้ำท่วมฉับพลันกระจัดกระจายอยู่บนพื้นโคลน หลังจากพายุ "ดาเนียล" โจมตีเมืองเดอร์นาทางตะวันออกของลิเบีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงค้นหาผู้สูญหายอีกนับพัน (Photo by Wissam Alhamale / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันรุนแรงในลิเบียยังคงไม่สงบ หลังยอดผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 4,000 ราย และยังคงมีผู้สูญหายให้ตามหาอีกนับพันคน
ฝนที่ตกหนักทำให้เขื่อน 2 แห่งในลิเบียแตก จนปริมาณน้ำมหาศาลขนาดเท่าสึนามิได้พัดถล่มเมืองท่าเดอร์นา จนกลายเป็นพื้นที่รกร้างอันเต็มไปด้วยซากตึกและซากศพของผู้คนจำนวนมากที่ถูกพัดพาลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
สหประชาชาติขออนุมัติเงินฉุกเฉินราว 71 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาภัยให้ผู้คนหลายแสนคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และเตือนว่าปัญหายังคงไม่สิ้นสุดโดยง่าย
ปัจจุบัน สภาพเมืองเดอร์นากลายเป็นเมืองที่ล่มสลาย, ต้นไม้และอาคารต่างๆ ถูกถอนรากถอนโคน และยานพาหนะจำนวนมากไหลกองรวมกันดั่งสุสานรถ
ถุงศพหลายร้อยใบเรียงรายตามถนนที่เต็มไปด้วยโคลนเพื่อรอการฝัง ในขณะที่ชาวบ้านที่บอบช้ำทางจิตใจและโศกเศร้าเดินค้นหาตามอาคารที่พังทลายเพื่อหาคนรักและครอบครัวที่หายไป
มาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าฝ่ายช่วยเหลือของสหประชาชาติกล่าวที่เมืองเจนีวาเมื่อวันศุกร์ว่า เขาได้เรียกร้องให้มีการประสานงานระหว่าง 2 รัฐบาลที่เป็นคู่แข่งกันของลิเบีย ทั้งรัฐบาลทางพื้นที่ตะวันตกที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็น และรัฐบาลทางพื้นที่ตะวันออกซึ่งประสบภัยพิบัติ
นอกจากผู้เสียชีวิตและสูญหายแล้ว องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 38,640 คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทางตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบีย โดยในเมืองเดอร์นาเพียงแห่งเดียวมีผู้พลัดถิ่นมากถึง 30,000 คน
ยานน์ ฟริเดซ หัวหน้าคณะผู้แทนลิเบียของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งมีทีมงานอยู่ที่เมืองเดอร์นาตอนที่เกิดเหตุน้ำท่วม กล่าวว่า "ภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงและโหดร้ายมาก คลื่นน้ำสูง 7 เมตรกวาดล้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และลากลงสู่ทะเล ครอบครัวสูญหาย ศพเกยตื้นกลาดเกลื่อน และเมืองทั้งเมืองถูกทำลาย"
ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักจนทำให้น้ำท่วมนั้นเกิดจากพายุเฮอริเคน 'ดาเนียล' ที่มีกำลังแรง ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ในลิเบียซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2554
เพตเตรี ทาลาส หัวหน้าองค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งโลกแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การเสียชีวิตจำนวนมากสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากระบบการเตือนภัยล่วงหน้าและระบบการจัดการเหตุฉุกเฉินทำงานได้อย่างถูกต้อง
"ทางการสามารถออกคำเตือนได้ และกองกำลังจัดการเหตุฉุกเฉินก็สามารถดำเนินการอพยพผู้คนได้ทันท่วงที ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากได้" ทาลาสกล่าว
ปัจจุบัน การเข้าถึงเมืองเดอร์นายังคงมีอุปสรรคมากมาย เนื่องจากถนนและสะพานถูกทำลาย อีกทั้งบริการไฟฟ้าและโทรศัพท์ถูกตัดขาดเป็นวงกว้าง ทำให้องค์การสหประชาชาติแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สร้างทางเดินริมทะเลเพื่อใช้เป็นช่องทางในการบรรเทาทุกข์และการอพยพในกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่ามีประชาชนราว 884,000 คนที่กำลังรอความช่วยเหลือ
โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ ระบุว่า ได้เริ่มแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับครอบครัวมากกว่า 5,000 ครอบครัวที่ต้องพลัดถิ่นจากน้ำท่วม และเสริมว่ายังมีอีกหลายพันครอบครัวในเดอร์นาที่ไร้บ้านและขาดแคลนอาหาร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ตุรเกีย' ออกโรงเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้อิสราเอล
กระทรวงการต่างประเทศของตุรเกียแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายถึงสหประชาชาติที่ลงนามโดย 52 ประเทศและสององค์กร
'อังคนา' เผยสหประชาชาติจี้ไทยรับผิดชอบการสูญหายของ 'ทนายสมชาย' เมื่อ20ปีก่อน
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายสาบสูญ โพสต์ข่าวสารจากเว็บไซต์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า
สหประชาชาติเตือน ฉนวนกาซาแทบไม่เหลือสภาพเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว
ความช่วยเหลือเข้าถึงฉนวนกาซาได้มากขึ้น สหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลืออื่นๆ จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับและแจกจ่ายความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
แอฟริกาใต้ฟ้องศาลโลก กล่าวหาอิสราเอลเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แอฟริกาใต้กล่าวหาอิสราเอลด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ เมื่อวัน
'นักวิชาการอิสระ' เตือนไทยไม่เข้าร่วม 'BRICS' หายนะศก.ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จับตา 'SCO'
'กมล' วิเคราะห์ อำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของไทย เตือนหากไม่เข้าร่วม BRICS ยังผูกอยู่กับดอลลาร์ เงินบาทจะไร้ค่าไปด้วย หายนะทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง จับตา องค์กรความร่วมมือเชี่ยงไฮ้ SCO จะแทนยูเอ็น