อินเดียประกาศควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะและปิดโรงเรียนบางแห่งในรัฐเกรละทางตอนใต้ หลังจากมีผู้เสียชีวิต 2 รายจากโรคนิปาห์ ซึ่งเป็นไวรัสจากค้างคาวหรือสุกรที่ทำให้เกิดไข้ร้ายแรง
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันขณะเคลื่อนย้ายร่างของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองโคซิโคเด รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 14 กันยายน (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 กล่าวว่า เกิดภาวะระบาดของไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
ทางการอินเดียประกาศควบคุมพื้นที่สาธารณะทันทีและห้ามการชุมนุม รวมทั้งสั่งปิดโรงเรียนบางแห่งในพื้นที่ที่เริ่มเกิดการระบาด
นอกจากพบผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลทดสอบการติดเชื้อเป็นบวกอีก 3 คน และผู้คนมากกว่า 700 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 153 คนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อนั้นอยู่ระหว่างการสังเกตอาการ ตามรายงานจากหน่วยงานสาธารณสุขอินเดีย
ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อดังกล่าวอย่างน้อย 4 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 9 ขวบ
ทั้งนี้ ไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ และอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
องค์การอนามัยโลกระบุว่าไวรัสดังกล่าวไม่มีวัคซีนป้องกันและมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ระหว่าง 40 -75% หากเกิดการติดเชื้อ
อาการต่างๆจากการติดเชื้อ ได้แก่ มีไข้รุนแรง, อาเจียน และทางเดินหายใจอักเสบ แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจมีอาการชักและมีไข้ในสมอง ส่งผลให้สมองอักเสบและตกอยู่ในภาวะโคม่าได้
ในระยะแรก ไวรัสจะแพร่เชื้อจากสัตว์พาหะ เช่น ค้างคาวผลไม้หรือสุกร แต่ก็สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ด้วย
ระยะฟักตัวตั้งแต่การติดเชื้อไปจนถึงการเริ่มแสดงอาการ อยู่ในช่วงประมาณ 4-14 วัน แต่มีรายงานว่าอาจยาวนานถึง 45 วัน ตามการระบุขององค์การอนามัยโลก
เมื่อปี 2561 ในรัฐเกรละแห่งนี้เคยเกิดการระบาดของไวรัสชนิดดังกล่าว จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย
ไวรัสนิปาห์ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2541 หลังจากแพร่ระบาดในหมู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในมาเลเซีย ส่วนในอินเดีย มีรายงานการระบาดของไวรัสนิปาห์ครั้งแรกในรัฐเบงกอลตะวันตกเมื่อปี 2544
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ภาวะติดเชื้อจากไวรัสนิปาห์ ถือเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่ "ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" เนื่องจากไวรัสดังกล่าวมีศักยภาพในการแพร่ระบาดและทั่วโลกยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดีพอ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ
เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"
8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้