การประชุมสุดยอดจี20 เริ่มขึ้นแล้วในอินเดีย มุ่งประเด็นยูเครนและปัญหาสภาพอากาศ

บรรดาผู้นำกลุ่มจี20 เริ่มการประชุมด้วยรายงานเกี่ยวกับสงครามในยูเครนและการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงต่อรัสเซียและหลีกเลี่ยงคำมั่นสัญญาแบบลายลักษณ์อักษรในประเด็นยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษ

(จากซ้ายไปขวา) เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, มกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน นายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เข้าร่วมเซสชั่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติภารัต มันดาปัม ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 กันยายน (Photo by Ludovic MARIN / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 กล่าวว่า อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี20 (G20) ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วที่กรุงนิวเดลี โดยมีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นประธานการประชุมที่บรรดาผู้นำจากหลายชาติเดินทางมาอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นประธานาธิบดีสีจิ้งผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ความขัดแย้งของสงครามในยูเครน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

มีการคาดการณ์ก่อนการประชุมว่า ที่ประชุมจะแถลงประณามรัสเซียจากการรุกรานยูเครนมานานกว่า 18 เดือนแล้ว ทว่าเจ้าภาพอินเดียได้กดดันสมาชิกให้เห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประณามการใช้กำลังเหนือดินแดนอธิปไตยของยูเครน แต่งดเว้นจากการวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียโดยตรง เพราะมีมุมมองและการประเมินสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละชาติที่มีทั้งฝ่ายพันธมิตรยูเครน, พันธมิตรรัสเซีย และกลุ่มชาติที่วางตัวเป็นกลาง

แม้ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้กดดันให้กลุ่มจี20 ทำการประณามสงครามที่ส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก แต่เนื่องจากอินเดียเป็นพันธมิตรของรัสเซียมายาวนานและนั่งหัวโต๊ะการประชุม การกดดันดังกล่าวจึงไม่เกิดผลใดๆ มีแต่เพียงบทสรุปที่ว่ากลุ่มจี20 ยังยืนหยัดในหลักการที่ว่ารัฐต่างๆ ไม่สามารถใช้กำลังเพื่อแสวงหาการครอบครองดินแดน หรือละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐอื่น รวมทั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ในด้านสภาพภูมิอากาศ ดูเหมือนที่ประชุมมีจุดยืนร่วมกันเพียงเล็กน้อย แม้ว่าสถิติอุณหภูมิต่างๆ ของสหภาพยุโรปจะชี้ว่าปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

แต่เนื่องจากมีผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศที่พึ่งพาถ่านหิน เช่น อินเดียและแอฟริกาใต้ อยู่ในที่ประชุม จึงไม่มีปฏิญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือแนวทางอย่างจริงจังใดๆที่จะยุติการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ก่อมลพิษต่อสภาพอากาศโลกได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศจี20 ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มแหล่งพลังงานหมุนเวียน 3 แห่งให้ได้ภายในปี 2573 และจะลดการใช้ถ่านหินตามสมควรแก่สถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศจี20 ต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ โดยคิดเป็น 85% ของจีดีพีทั้งโลก จึงมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้

นอกจากประเด็นหลักแล้ว กลุ่มจี20 ยังได้ประกาศต้อนรับสมาชิกใหม่ คือสหภาพแอฟริกา ที่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกถาวร เพื่อให้ทวีปนี้มีตัวแทนและมีส่วนร่วมมากขึ้น

สหภาพแอฟริกาเป็นตัวแทนของประชากรกว่า 1,400 ล้านคนจากสมาชิก 55 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 6 ประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในปัจจุบันและถูกระงับสมาชิกภาพเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ จี20 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินปี 2551 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเศรษฐกิจโลก แต่การหาฉันทามติในหมู่สมาชิกกลับยากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความขัดแย้งเฉพาะตัวของแต่ละชาติ.

เพิ่มเพื่อน