ญี่ปุ่นเริ่มต้นเดินทางสู่ดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจ 'Moon Sniper'

ภารกิจ "Moon Sniper" ของญี่ปุ่นออกเดินทางสู่ดวงจันทร์แล้ว ในความพยายามเดินตามความสำเร็จของชาติอื่นๆ หลังจากอินเดียเพิ่งได้รับชัยชนะบนดวงจันทร์ครั้งประวัติศาสตร์

จรวด H-IIA ที่บรรทุกยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ขนาดเล็ก ถูกปล่อยตัวขึ้นจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะบนเกาะทาเนกาชิมะ จังหวัดคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน (Photo by JIJI PRESS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 กล่าวว่า ญี่ปุ่นเปิดตัวภารกิจ "มูน สไนเปอร์ (Moon Sniper)" ด้วยการส่งยานอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ หลังเคยล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้

มีเพียงสหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน และอินเดียเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดยานสำรวจบนดวงจันทร์

จรวด H-IIA ที่บรรทุกยานลงจอดบนดวงจันทร์ ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีจากเกาะทาเนกาชิมะทางตอนใต้ของประเทศ ท่ามกลางผู้ชมทางออนไลน์กว่า 35,000 คน และคาดว่าจะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ช่วงต้นปี 2567

Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) มีชื่อเล่นว่า "Moon Sniper" เนื่องจากได้รับการออกแบบให้ลงจอดภายในระยะ 100 เมตรจากเป้าหมายเฉพาะบนพื้นผิว โดยยานสำรวจดวงจันทร์ "SLIM" และดาวเทียมวิจัยอวกาศ "XRISM" ได้รับการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

"ภารกิจลงจอด Moon Sniper บนดวงจันทร์ จะทำให้การลงจอดยานเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพไปสู่ความสามารถในการลงจอดในที่ที่ต้องการได้ ไม่ใช่แค่ในที่ที่ลงจอดได้ง่ายเท่านั้น" หน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่นกล่าวก่อนการปล่อยยาน

"การบรรลุเป้าหมายนี้จะนำสู่ความเป็นไปได้ในการลงจอดบนดาวเคราะห์ที่ขาดแคลนทรัพยากรมากกว่าดวงจันทร์" หน่วยงานฯกล่าวเสริม

ขณะที่ดาวเทียมวิจัยอวกาศ "XRISM" จะดำเนินการสำรวจลมพลาสมาก๊าซร้อนที่พัดผ่านกาแลคซีในจักรวาล โดยใช้รังสีเอกซ์ความละเอียดสูง เพื่อศึกษาการไหลของมวลและพลังงาน รวมทั้งองค์ประกอบและวิวัฒนาการของวัตถุท้องฟ้า ตามการระบุของหน่วยงานฯ

ทั้งนี้ ยานลงจอดบนดวงจันทร์ติดตั้งหัววัดทรงกลมที่พัฒนาร่วมกับบริษัทของเล่น โดยมีขนาดใหญ่กว่าลูกเทนนิสเล็กน้อย แต่สามารถเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้

เมื่อเดือนที่แล้วอินเดียลงจอดยานใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป์นชาติแรก ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับโครงการอวกาศราคาประหยัด

และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อินเดียยังได้ส่งยานสำรวจที่บรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ในภารกิจเดินทาง 4 เดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง