จีนใช้เวทีอาเซียนเตือนชาติมหาอำนาจ อย่าผลักดันสถานการณ์เข้าสู่ 'สงครามเย็นครั้งใหม่'

นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวเตือนบรรดาชาติมหาอำนาจในเวทีประชุมอาเซียน ให้ยอมรับความแตกต่างและควบคุมตนเองไม่ให้ผลักดันสถานการณ์ใดๆเข้าสู่ภาวะ "สงครามเย็นครั้งใหม่"

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 26 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6 กันยายน (Photo by Yasuyoshi CHIBA / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน 2566 กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ประเทศ มีวาระการประชุมสุดยอดแยกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เพื่อเปิดเวทีสำหรับชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่ในการล็อบบี้กลุ่มประเทศและคู่แข่งของพวกเขา

สำหรับเวทีแยกกับจีน ซึ่งได้ส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง มาเป็นผู้แทนในการประชุม เขาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับข้อพิพาทกับมหาอำนาจชาติอื่นๆ ในภูมิภาคทะเลจีนใต้

"ความขัดแย้งและข้อพิพาทอาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศต่างๆ เนื่องมาจากความเข้าใจผิด, ผลประโยชน์ที่ต่างกัน หรือการแทรกแซงจากภายนอก" หลี่ เฉียงกล่าวในการเริ่มการประชุมอาเซียนบวกสามร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในกรุงจาการ์ตา

"เพื่อรักษาความแตกต่างให้อยู่ภายใต้การควบคุม สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการต่อต้านการเลือกข้าง, ต่อต้านการเผชิญหน้าของชาติสมาชิก และต่อต้านสงครามเย็นครั้งใหม่" เขากล่าว

ความเห็นของนายกรัฐมนตรีจีนมีขึ้นหลังจากหลี่ ซางฟู่ รัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลปักกิ่งกล่าวเตือนในการประชุมแชงกรีลาในสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน ไม่ให้มีการจัดตั้งพันธมิตรคล้ายนาโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเรียกร้องให้ใช้ความร่วมมือขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่จะแบ่งแยกเป็นกลุ่มเล็กๆ

คำเตือนดังกล่าวอ้างอิงถึงความร่วมมือด้านกลาโหมของกลุ่มออคัส (AUKUS) ที่มีสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และอังกฤษ และกลุ่มควอด (Quad) ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, อินเดีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จีนเพิ่งเผยแพร่แผนที่อย่างเป็นทางการฉบับใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความแตกแยกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีน่านน้ำคาบเกี่ยวกัน

แผนที่ดังกล่าวทำให้เกิดการตำหนิอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้นำอาเซียนจะไม่เผชิญหน้ากับหลี่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกระทั่งกับรัฐบาลปักกิ่ง

การประชุมในวันพุธเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่มีสมาชิก 18 ประเทศในวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีรัสเซียเข้าร่วมด้วย และการประชุมสุดยอดจี20 ในกรุงนิวเดลีช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างจะเป็นประเด็นสำคัญในวาระการประชุม.

เพิ่มเพื่อน