รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขนาดของแพ็คเกจช่วยเหลือสำหรับภาคการประมง หลังจากที่จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของตน ภายหลังการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
คนงานประมงขนถ่ายอาหารทะเลที่จับได้จากการประมงอวนลากนอกชายฝั่งที่ท่าเรือมัตสึคาวะอูระ ในเมืองโซมะ จังหวัดฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มระบายน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ (Photo by JIJI PRESS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2566 กล่าวว่า หลังโดนกระแสต่อต้านหนักจากการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลตั้งแต่ปลายเดือนก่อน ทำให้ภาคการประมงของญี่ปุ่นหดตัวเพราะหลายประเทศงดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย
ล่าสุด รัฐบาลโตเกียวเตรียมเพิ่มขนาดของแพ็คเกจช่วยเหลือภาคการประมง พร้อมเดินหน้าต่อ แม้ชาวประมงและชาวบ้านมากกว่า 100 คนที่อาศัยอยู่ใกล้ฟุกุชิมะจะยื่นฟ้องร้องในสัปดาห์นี้เพื่อให้ยุติการปล่อยน้ำบำบัดลงสู่ทะเล
งบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 20,700 ล้านเยน (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) ที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ จากยอดเดิมที่สำรองไว้แล้ว 80,000 ล้านเยน (ประมาณ 19,000 ล้านบาท) โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสียหายต่อชื่อเสียงของอุตสาหกรรม และป้องกันหน่วยธุรกิจล่มสลาย
"ความช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นทำให้ในขณะนี้มีจำนวนเงินรวม 100,700 ล้านเยน (ประมาณ 24,000 ล้านบาท) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ในเมืองฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554" คิชิดะกล่าว
12 ปีหลังจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำหล่อเย็นที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ตรวจสอบและประเมินยืนยันความปลอดภัย
ชาวประมงญี่ปุ่นจำนวนมากต่อต้านการปล่อยน้ำดังกล่าว โดยเกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะยิ่งตอกย้ำความหวาดกลัวต่อพื้นที่และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรม โดยโจทก์มากกว่า 100 รายในฟุกุชิมะและจังหวัดใกล้เคียงจะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงฟุกุชิมะในวันศุกร์นี้ พร้อมตำหนิว่ารัฐบาลล้มเหลวในการรักษาสัญญาที่ว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบจากชาวประมงก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยน้ำบำบัด
การปล่อยน้ำบำบัดก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากประเทศจีน รวมถึงการห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นแบบครอบคลุม
สำนักงานรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ ของญี่ปุ่นยังถูกโจมตีด้วยโทรศัพท์รบกวนหลายพันสายจากหมายเลขโทรศัพท์ของจีนเนื่องจากประเด็นดังกล่าว โดยรัฐบาลเมืองโตเกียวเพียงแห่งเดียวได้รับโทรศัพท์มากถึง 34,300 สายตั้งแต่วันที่ 24-31 สิงหาคม
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนว่า ปลาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากฟุกุชิมะนั้นปลอดภัยสำหรับการบริโภค
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราห์ม เอมมานูเอล ทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น และนายกฯคิชิดะ โชว์กินปลาจากฟุกุชิมะต่อหน้ากล้องโทรทัศน์
ก่อนการปล่อยน้ำบำบัด จีนเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และการสั่งแบนของรัฐบาลปักกิ่งทำให้ผู้คนในภาคส่วนนี้เกิดความกังวล.