ซูเปอร์ไต้ฝุ่นซาวลา จ่อขึ้นฝั่งพัดถล่มเมืองทางตอนใต้ของจีน

ประชาชนหลายสิบล้านคนในฮ่องกง, เซินเจิ้น และมหานครทางตอนใต้อื่นๆ ของจีน ต้องหลบภัยในบ้าน ขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นซาวลาอาจกลายเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

กิ่งไม้ที่หักโค่นจากลมกระโชกแรงโดยอิทธิพลของซูเปอร์ไต้ฝุ่นซาวลาในฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 กันยายน (Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 กล่าวว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ซาวลา (Saola)' เคลื่อนตัวเข้าใกล้ฮ่องกงและทางตอนใต้ของจีน ทำให้เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวถูกยกเลิกทั่วภูมิภาค, การเริ่มต้นปีการศึกษาในฮ่องกงล่าช้า และท้องถนนร้างผู้คน

เจ้าหน้าที่สนามบินฮ่องกงระบุว่า เที่ยวบินมากกว่า 300 เที่ยวบินถูกยกเลิก และทางการเตือนว่าอาจเพิ่มระดับการเตือนเป็น T10 ซึ่งเป็นระดับเตือนภัยสูงสุดที่เกิดขึ้นเพียง 16 ครั้งนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคาดว่าพายุอาจสร้างความเสียหายหนักแก่ฮ่องกง

ตลาดหุ้นทั้งหมดถูกระงับการซื้อขาย และเจ้าหน้าที่เตือนว่าซาวลาอาจทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง

"ระดับน้ำทะเลสูงสุดอาจใกล้เคียงกับตอนที่พายุมังคุดโจมตีฮ่องกงในปี 2561" หอสังเกตการณ์สภาพอากาศของเกาะ ระบุ

ครั้งนั้น พายุไต้ฝุ่นมังคุดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 รายในฮ่องกง, ต้นไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนในจังหวัดทางตอนใต้ต้องพลัดถิ่น และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของจีน ระบุเมื่อวันศุกร์ว่า ซาวลาอาจกลายเป็นไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดที่จะทำให้เกิดแผ่นดินถล่มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลนับตั้งแต่ปี 2492 อันหมายถึงพื้นที่ราบต่ำของฮ่องกง, มาเก๊า และเซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง

เมื่อเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซาวลาอยู่ห่างจากฮ่องกงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 140 กิโลเมตร โดยมีความเร็วลมคงที่ในระดับ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในเซินเจิ้นซึ่งมีประชากร 17.7 ล้านคน ทางการได้เปิดที่พักพิงให้ผู้คนได้หลบภัย และระงับการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งรถไฟเข้าและออกจากมณฑลกวางตุ้งที่จะยกเลิกการให้บริการตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันศุกร์ ไปจนถึง 18.00 น. ของวันเสาร์

ทั้งนี้ ทางตอนใต้ของจีนมักประสบกับพายุไต้ฝุ่นในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ แล้วเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุทวีความรุนแรงกว่าที่เคย โดยมีฝนตกมากขึ้นและลมกระโชกแรงขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและความเสียหายชายฝั่ง.

เพิ่มเพื่อน