สหรัฐฯ ระบุเมื่อวันอังคารว่า พวกเขากำลังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่จีนที่ดำเนินการ "ดูดกลืนชาติพันธุ์" เด็กในทิเบต โดยผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ระบุว่า เด็ก 1 ล้านคนถูกแยกออกจากครอบครัว
แฟ้มภาพ ห้องเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในเมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต (Photo by Hector RETAMAL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะจำกัดการออกวีซ่าแก่เจ้าหน้าที่จีนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายของโรงเรียนประจำของรัฐในทิเบต ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตันที่มีต่อรัฐบาลปักกิ่ง
"นโยบายบีบบังคับที่ซ่อนอยู่ในแผนการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลของจีนพยายามที่จะกำจัดประเพณีทางภาษา, วัฒนธรรม และศาสนาอันโดดเด่นของทิเบตในหมู่ชาวทิเบตรุ่นเยาว์" บลินเคนกล่าวในแถลงการณ์
"เราขอเรียกร้องให้ทางการจีนยุติการบีบบังคับเด็กชาวทิเบตให้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำของรัฐบาล และยุตินโยบายการดูดซึมแบบกดขี่ ทั้งในทิเบตและทั่วทั้งส่วนอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน" เขากล่าว โดยอ้างถึงรัฐบาลกลางปักกิ่ง
ตั้งแต่ปี 2564 สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอีกภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งก็คือซินเจียง โดยผ่านทางสิ่งที่เจ้าหน้าที่, กลุ่มสิทธิ และผู้สังเกตการณ์ของสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นเครือข่ายค่ายแรงงานภาคบังคับขนาดใหญ่ ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อจำกัดใหม่นี้จะนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอดีตที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษาในทิเบต แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยอ้างถึงกฎหมายการรักษาความลับของสหรัฐฯ ในบันทึกวีซ่า
สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเมื่อเดือนธันวาคมต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน 2 คน คือ อู๋ หยิงเจี๋ย และจาง หงโป จากสิ่งที่รัฐบาลวอชิงตันกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต
ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเรียกข้อกล่าวหาที่ได้รับจากรัฐบาลวอชิงตันว่า "เป็นรอยเปื้อน" ที่ "บ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างร้ายแรง"
"ตามแนวทางปฏิบัติสากลทั่วไป โรงเรียนประจำในจีนได้รับการจัดตั้งขึ้นตามความต้องการของนักเรียนในท้องถิ่น" หลิว เผิงหยู โฆษกสถานทูตจีนในวอชิงตันกล่าว
"โรงเรียนประจำได้ค่อยๆ พัฒนาให้กลายเป็นรูปแบบการดำเนินการโรงเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ของจีน และวิธีการบริหารโรงเรียนแบบรวมศูนย์ช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากของนักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในการเข้าเรียนในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ผู้คนในท้องถิ่นอาศัยอยู่กระจัดกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" หลิว เผิงหยู กล่าวเสริม
แต่ในคำแถลงของบลิงเคนมีการอ้างถึงการค้นพบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ 3 คน ซึ่งกล่าวว่า เด็กชาวทิเบตประมาณ 1 ล้านคนถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนประจำของรัฐบาลกลาง ซึ่งรายงานพิเศษกล่าวว่าโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะบูรณาการชาวทิเบตให้หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมฮั่นของประชากรจีนส่วนใหญ่โดยไม่สมัครใจ, มีการศึกษาภาคบังคับที่ใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลัก และไม่มีการสอนเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคหิมาลัยที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
รายงานอีกฉบับในปีนี้จากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ระบุว่า ชาวทิเบตหลายแสนคนถูกบังคับให้ออกจากชีวิตในชนบทแบบดั้งเดิมมาสู่ "การฝึกอาชีพ" ที่มีทักษะต่ำ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะบ่อนทำลายอัตลักษณ์ของพวกเขา
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา สถานะของทิเบตได้สลับไปมาระหว่างการเป็นเอกราชกับการถูกควบคุมโดยจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอ้างว่าได้ปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติในปี 2494 พร้อมนำโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษามาสู่ภูมิภาคที่เคยด้อยพัฒนาก่อนหน้านี้
แต่ชาวทิเบตที่ถูกเนรเทศจำนวนมากกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนทำการปราบปราม, ทรมาน และกัดกร่อนวัฒนธรรมของพวกเขา.