เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยื่นศาลขอความคุ้มครองการล้มละลายในสหรัฐฯ เพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินระหว่างความพยายามปรับโครงสร้างใหม่
กลุ่มอาคารที่พักอาศัยของเอเวอร์แกรนด์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติจีน ในเมืองหวายอัน มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) อดีตผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของจีน ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงตั้งแต่ปี 2564 กับหนี้สินกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) จนล่าสุดได้ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองการล้มละลายต่อศาลในสหรัฐอเมริกาแล้ว
หลังจากได้รับแรงกดดันอย่างหนักมาตลอดจากความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทางอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ การยอมรับสถานะล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤตที่เพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก สร้างความหวาดกลัวแผ่ขยายไปทั่วโลก
นักพัฒนารายใหญ่หลายรายได้รับผลกระทบจากประเด็นที่เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขาล้มเหลวในการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการประท้วงและการคว่ำบาตรจากผู้ซื้อบ้าน
ในการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ล่าสุดในนิวยอร์ก Tianji Holding และ Scenery Journey ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งขั้นสูงสุดของเอเวอร์แกรนด์ ได้ยื่นขอความคุ้มครองตามมาตรา 15 ซึ่งกำหนดกลไกในการจัดการกับคดีล้มละลายที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งประเทศ
ที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ได้ดำเนินการตามข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายเดือนและได้เปิดเผยข้อเสนอปรับโครงสร้างล่าสุดเมื่อต้นปีนี้
แผนปรับโครงสร้างดังกล่าวเสนอทางเลือกแก่เจ้าหนี้ในการแลกเปลี่ยนหนี้เป็นตั๋วเงินใหม่ที่ออกโดยบริษัทและหุ้นของบริษัทในเครือ 2 แห่ง ได้แก่ Evergrande Property Services Group และ Evergrande New Energy Vehicle Group
เอเวอร์แกรนด์เริ่มผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในปี 2564 ทำให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบในวงการ และเอกสารล่าสุดที่ยื่นต่อศาลระบุว่า บริษัทกำลังดำเนินกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในฮ่องกง
ในเดือนกรกฎาคม เอเวอร์แกรนด์รายงานผลประกอบการขาดทุนสุทธิมากกว่า 113,000,000,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท) ในปี 2564 และ 2565 โดยมีหนี้สินสะสมอยู่ที่เกือบ 340,000,000,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2565 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืม 85,000,000,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) และบริษัทฯมีเงินสดรวมเหลือเพียงประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) ในขณะนั้น
การปฏิรูปที่อยู่อาศัยในจีนช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก่อให้เกิดความเฟื่องฟูในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ถือว่าการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแต่งงาน
แต่หนี้จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ถูกรัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อระบบการเงินของจีนและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
เพื่อลดภาระหนี้ของภาคส่วนนี้ ทางการได้ค่อยๆ เข้มงวดกับเงื่อนไขสำหรับการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แหล่งเงินทุนสำหรับบริษัทที่มีหนี้สินต้องล้มหายไป และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมา โดยเฉพาะในรายของเอเวอร์แกรนด์ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่มีศักยภาพจนสั่นสะเทือนไปทั่ววงการ
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลปักกิ่งพยายามสนับสนุนภาคส่วนอสังหาฯด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยจำนอง, ลดขั้นตอนที่เข้มงวด และเสนอสินเชื่อเพิ่มเติมแก่กลุ่มพัฒนาอสังหาฯ เพื่อพยุงวิกฤตดังกล่าว.