ทางการเมียนมาจับกุมชาวโรฮีนจาเกือบ 150 คนที่ต้องสงสัยว่าพยายามหลบหนีออกจากประเทศ
แฟ้มภาพ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเดินข้ามลำน้ำตื้นๆ เพื่ออพยพเข้าบังกลาเทศ (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า ชาวโรฮีนจาในเมียนมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและถูกมองว่าเป็นผู้สอดแนมจากบังกลาเทศ ถูกจับกุมเมื่อวันศุกร์ ใกล้กับหมู่บ้านแวคามี ทางตอนใต้ของรัฐมอญ
กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮีนจาในปี 2560 และปัจจุบันผู้คนหลายพันคนต้องเสี่ยงชีวิตเดินทางจากค่ายในบังกลาเทศและเมียนมา เพื่อไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
"ในจำนวนชาวโรฮีนจาที่ถูกจับกุมล่าสุด แบ่งเป็นชาย 127 คนและหญิง 18 คน สถานะปัจจุบันอยู่ภายใต้การสอบสวนตามกฎหมายคนเข้าเมือง" อ่อง เมียต จ่อ เส่ง โฆษกสภาบริหารรัฐมอญ กล่าวกับเอเอฟพี
ชาวโรฮีนจาในเมียนมาถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองและต้องขออนุญาตทุกครั้งหากมีการเดินทาง ด้วยสภาพความเป็นอยู่อย่างกดขี่และแร้นแค้นรวมทั้งถูกปราบปรามอย่างหนัก จึงทำให้หลายคนเลือกหลบหนีออกจากสภาพที่เป็นอยู่ แม้ต้องพเนจรไร้หลักแหล่งก็ตาม
รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเผชิญกับข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ หลังการปราบปรามชาวโรฮีนจาในปี 2560 ซึ่งทำให้หลายแสนคนต้องอพยพหลบหนีไปยังบังกลาเทศ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือที่บรรทุกชาวโรฮีนจาอพยพราว 50 คนเกิดล่มกลางทะเลนอกชายฝั่งเมียนมา แต่หน่วยกู้ภัยช่วยร่างไร้วิญญาณขึ้นมาได้เพียง 17 ราย ส่วนที่เหลือยังคงสูญหาย
บังกลาเทศและเมียนมาได้หารือเกี่ยวกับความพยายามในการเริ่มส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับประเทศ แม้ว่าทูตอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าเงื่อนไขทางสภาพความเป็นอยู่ยังไม่ปลอดภัยสำหรับการส่งกลับ
เมียนมาอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซูจีถูกโค่นล้มด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งยุติช่วงเวลาสั้น ๆ ของระบอบประชาธิปไตยในประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ตุรเกีย' ออกโรงเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้อิสราเอล
กระทรวงการต่างประเทศของตุรเกียแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายถึงสหประชาชาติที่ลงนามโดย 52 ประเทศและสององค์กร