พลเมืองฮาวายแสดงความโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรงต่อมาตรการรับมือภัยพิบัติที่บกพร่องของทางการ จากเหตุไฟป่าที่ลุกลามเผาวอดเกือบทั้งเมือง และคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 93 ราย
บ้านเรือนและอาคารถูกเผา หลังไฟป่าลุกลามเมืองลาไฮนา ทางตะวันตกของเกาะเมาอิ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม (Photo by Yuki IWAMURA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า เหตุไฟป่าโหมกระหน่ำเผาเมืองจนวอดในฮาวาย ล่าสุดความเสียหายขยายตัวไปยังอาคารมากกว่า 2,200 แห่งที่พังทลายลงเนื่องจากไฟลุกลามไปทั่วลาไฮนา
ตามการประมาณการของทางการ ความเสียหายจากเหตุครั้งนี้อาจสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 192,000 ล้านบาท) และทำให้ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคน
ทางการฮาวายได้เริ่มการสอบสวนความบกพร่องของมาตรการจัดการภัยพิบัติที่ถูกพลเมืองส่วนใหญ่ตำหนิด้วยความโกรธว่าไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าทั้งก่อนเกิดเหตุและระหว่างเกิดเหตุ รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือหลังจบเหตุ
ลาไฮนา ซึ่งมีประชากรมากกว่า 12,000 คนและเคยเป็นบ้านของราชวงศ์กษัตริย์ฮาวายในสมัยก่อน ถูกไฟป่ากลืนกินจนบ้านเรือนไหม้ดำเป็นซากปรักหักพัง ไม่เว้นแม้แต่อาคารโรงแรมและร้านอาหารที่เคยมีชีวิตชีวาก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง
เทศมณฑลเมาอิกล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 93 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
ทำให้ไฟป่าครั้งนี้ มียอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าเหตุไฟป่าในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2561 ซึ่งเผาผลาญเมืองเล็กๆ อย่างพาราไดซ์ และคร่าชีวิตผู้คนไป 86 ราย
อีกทั้งยังเป็นไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 100 ปี นับตั้งแต่ปี 2461 ที่มีผู้เสียชีวิต 453 รายในมินนิโซตาและวิสคอนซิน ตามการระบุของกลุ่มวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร National Fire Protection Association
ปัจจุบัน ทางการประสบปัญหากับการระบุตัวตนบรรดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากพวกเขาถูกไฟคลอกอย่างรุนแรงจนแทบจะหาดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนศพได้ยาก
หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเชิงตำหนิต่อฝ่ายปกครองของฮาวาย ที่ขาดการรับมือภัยพิบัติที่ดี โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยและการประเมินการลุกลามของไฟป่าต่ำเกินไป จนทำให้ความเสียหายขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ผู้ว่าการรัฐฮาวายออกมาตอบโต้และปกป้องประเด็นดังกล่าวทันที โดยกล่าวว่าสถานการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ซับซ้อนมาก เนื่องจากเกิดไฟไหม้หลายครั้งและมีแรงลมช่วยหนุน ต่อให้รู้ล่วงหน้า ก็ทำอะไรได้ไม่มาก
อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดของฮาวายเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวว่าเป็นความบกพร่องในการตัดสินใจหรือดำเนินนโยบายผิดพลาดหรือไม่ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ, ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุไฟป่าบนเกาะเมาอิและฮาวาย
มีรายงานว่า เมาอิประสบปัญหาไฟฟ้าดับหลายครั้งในช่วงวิกฤต ทำให้พลเมืองจำนวนมากไม่ได้รับการแจ้งเตือนฉุกเฉินทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าบกพร่อง รวมทั้งการไม่มีเสียงไซเรนฉุกเฉิน
ไฟป่าในฮาวายเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในพื้นที่อื่นๆ ของทวีปอเมริกาเหนือในฤดูร้อนนี้ โดยไฟป่ารุนแรงยังคงลุกไหม้ทั่วแคนาดา และคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
ทวีปยุโรปและบางส่วนของเอเชียต้องทนกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่และน้ำท่วมได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์กำลังทำให้ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นอันตรายถึงชีวิตมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระดมกำลังคุมสถานการณ์ 'ไฟป่าพรุโต๊ะแดง'
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสิรินธรระดมกำลังหน่วยงานพร้อมชาวบ้านอาสาสมัครในพื้นที่ คุมสถานการณ์ไฟป่าพรุโต๊ะแดงได้แล้ว โดยเข้าควบคุมบริเวณหัวไฟได้สำเร็จ
จ.เชียงใหม่ สั่งดูแลจนท.ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บระนาว ระหว่างลาดตระเวนดับไฟป่า
นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือและดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่เดินทางเข้าสู่พื้นที่ลาดตระเวนในการดับไฟป่าพื้นที่อำเภอจอมทอง
จุดไฟเผาป่าเทือกเขาภูลังกา ย่อยยับกว่า 400 ไร่ แค่ต้องการน้ำผึ้ง-เห็ด
กรณีเกิดไฟไหม้ป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา โดยต้นเพลิงอยู่บริเวณบ้านแพงโคก หมู่ 7 และ บ้านนาเรียง หมู่ 8 ต.นางัว อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดเชิงเขาด้านทิศใต้ หรือชาวบ้านเรียกว่าหัวภู
สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา
นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง
'ผอ.ทอ.' ตรวจเยี่ยมหน่วยบิน สนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ลุยดับไฟป่า-ฝุ่นพิษเชียงใหม่
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ พร้อมด้วย พล.อ.อ.วรกฤต