นิการากัวเลิกคบไต้หวัน หันสถาปนาสัมพันธ์จีน

รัฐบาลนิการากัวประกาศตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันแล้วหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ อเมริกาเดือดร้อนแทน เรียกร้องทุกประเทศเห็นคุณค่าประชาธิปไตยและขยายการเกี่ยวพันกับไต้หวัน

Getty Images

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า นิการากัวจะหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแทน โดยเดนิส มอนกาดา รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด และไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

ลอรีอาโน ฟากุนโด ออร์เตกา มูรีโย ลูกชายของประธานาธิบดีออร์เตกา นำคณะเจ้าหน้าที่นิการากัวมาทำพิธีลงนามแถลงการณ์ร่วม เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน ที่เมืองเทียนจินในวันศุกร์ โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า การตัดสินใจของนิการากัวเป็นการเลือกที่ถูกต้อง ซึ่งเข้ากับแนวโน้มกว้างๆ และความปรารถนาของประชาชน

รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กดดันไต้หวันหนักขึ้นนับแต่ไช่ อิงเหวิน ผู้ปฏิเสธจีนเดียว ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2559 จีนพยายามกดดันทางการทูตเพื่อโดดเดี่ยวเกาะประชาธิปไตยแห่งนี้ ซึ่งจีนถือว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนและไม่ปฏิเสธการใช้กำลังหากไต้หวันประกาศเอกราช

ไม่กี่ปีมานี้ จีนสามารถชักจูงให้พันธมิตรของไต้หวันเปลี่ยนข้างได้หลายประเทศ รวมถึง 3 ประเทศร่วมภูมิภาคลาตินอเมริกากับนิการากัว คือ ปานามา, เอลซัลวาดอร์ และสาธารณรัฐโดมินิกัน การตัดสินใจล่าสุดของนิการากัวทำให้เหลือประเทศที่ยังรับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการเพียง 14 ประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้จะสูญเสียมิตรที่คบหาอย่างเป็นทางการ แต่อีกทางไต้หวันก็กำลังกระชับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลไต้หวันแสดงความ "เจ็บปวดและเสียใจอย่างสุดซึ้ง" กับการตัดสินใจของนิการากัว แต่พวกเขาก็ประกาศว่าจะเดินหน้าสร้างพันธมิตรในที่อื่นต่อไป ส่วนประธานาธิบดีไช่ไม่ใส่ใจนัก โดยบอกว่า ยิ่งไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติมากเท่าไหร่ ก็จะเผชิญแรงกดดันจากค่ายเผด็จการมากขึ้นเท่านั้น

ด้านรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนจากการรับรองไต้หวันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อปี 2522 เรียกร้องให้ "ทุกประเทศให้ความสำคัญต่อสถาบันประชาธิปไตย" และ "ขยายการเกี่ยวพันกับไต้หวัน"

นิการากัวในสมัยของออร์เตกาเคยรับรองจีนเมื่อปี 2528 แต่ประธานาธิบดีคนต่อจากเขาเปลี่ยนไปรับรองไต้หวันในอีก 5 ปีต่อมา ผู้นำมาร์กซิสต์รายนี้เคยกล่าวไว้หลังจากกลับมาครองอำนาจอีกครั้งในปี 2550 ว่าเขาหวังจะสร้างความสัมพันธ์ทั้งกับจีนและไต้หวัน แต่จีนไม่ยอมรับแนวคิดนี้

ออสการ์ เรเน บาร์กัส นักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ให้ทัศนะว่า ออร์เตกา ซึ่งชนะการเลือกตั้งอีก 4 สมัยโดยแก้กฎหมายยกเลิกข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กำลังเสาะหาการสนับสนุนทางการเมืองจากจีน เนื่องจากเขากำลังถูกสหรัฐกดดันและคว่ำบาตร ภายหลังชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งละครใบ้

ขณะนี้ไต้หวันเหลือพันธมิตรไม่กี่ชาติในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน อาทิ เบลีซ, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, ปารากวัย และเฮติ กับประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในแปซิฟิกอีก 4 ประเทศ, เอสวาตินีในแอฟริกา และนครรัฐวาติกัน โดยมีความเป็นไปได้ที่ฮอนดูรัสจะเปลี่ยนไปคบหาจีนแทนเช่นกัน หลังจากซีโอมารา กาสโตร ผู้นำฝ่ายซ้าย ชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนนี้

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พันธมิตรของไต้หวันในโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐและยุโรป ดำเนินการเกี่ยวพันทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันมากขึ้น เช่นการส่งคณะผู้แทนไปเยือน รัฐบาลของไบเดนยังเชิญผู้แทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยแบบทางไกลที่จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ด้วย แทนที่จะเชิญจีน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัดเลาะ 4 แลนด์มาร์คดังแห่ง “หนานโถว” ไต้หวัน พร้อมพาไปเปิดประสบการณ์ งานเทศกาลสุดยิ่งใหญ่แห่งปี Sun Moon Lake 2024 Come! Bike Day

ภาคกลางของไต้หวันเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติที่งดงามและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในเมืองที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น “หนานโถว”

เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7

ไต้หวันประกาศผู้ชนะเลิศ 3 อันดับแรกจากโครงการ "Go Green with Taiwan"

หลังจากระยะเวลา 5 เดือนของโครงการ "Go Green with Taiwan" โดยกรมการค้าระหว่างประเทศ (TITA) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ (MOEA) ดำเนินการโดยสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออก