ราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้านของอินเดียประณามความเฉยเมยของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ร้ายแรงทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
ราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้านของอินเดีย (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย (Photo by Drew ANGERER and Tolga AKMEN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี อยู่ในสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องปกป้องการกระทำของตนเกี่ยวกับความรุนแรงในรัฐมณีปุระ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 120 ราย
ล่าสุด ราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาอีกครั้ง นับตั้งแต่หลุดคดีหมิ่นประมาทนเรนทรา โมดี กล่าวปราศรัยอย่างเผ็ดร้อนต่อรัฐสภาอันเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพราะปล่อยให้ความไม่สงบลุกลามมานานหลายเดือน
"คุณกำลังขว้างน้ำมันก๊าดไปทั้งประเทศ คุณขว้างน้ำมันก๊าดในรัฐมณีปุระ และจุดประกายไฟ คุณกำลังจะเผาทั้งประเทศ คุณกำลังฆ่าแผ่นดินแม่" คานธีกล่าว พร้อมเสียงเชียร์จากกลุ่มผู้สนับสนุนและเสียงโห่ร้องจากฝั่งตรงข้าม
พรรคภารติยะ ชนะตา (บีเจพี) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูของโมดีมักถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาเป็นประจำว่ายุยงให้เกิดความแตกแยกเพื่อจุดประสงค์ในการเลือกตั้ง โดยอินเดียมีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปีหน้า
พรรคบีเจพีครองเสียงข้างมาก 543 เสียงในสภาผู้แทนฯ และคาดว่าจะเอาชนะการลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างสบายๆ จากกรณีดังกล่าว
การปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มชนเผ่าในรัฐมณีปุระได้รับการดูแลจากทหารที่ถูกระดมเข้ามาจากพื้นที่อื่น ๆ ของอินเดียเพื่อควบคุมความรุนแรง, กำหนดเคอร์ฟิว และการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั่วทั้งรัฐ
ราหุล คานธี เป็นทายาทของราชวงศ์ทางการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดีย และเป็นทั้งบุตรชาย, หลานชาย และเหลนของอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียหลายท่าน ได้รับการพิจารณาจากศาลฎีกาให้พ้นผิดคดีหมิ่นประมาทต่อนเรนทรา โมดี
คานธีถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปีแต่ได้รับการประกันตัวหลังจากยื่นอุทธรณ์ หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฏรของอินเดียลงมติให้คานธีไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และถูกขับออกจากรัฐสภา และท้ายที่สุดได้รับคำสั่งจากศาลฎีกาให้กลับเข้ารัฐสภาในฐานะผู้นำฝ่ายค้านดังเดิม
คานธีและพันธมิตรของเขากำลังพยายามผนึกกำลังกับพรรคขนาดเล็กก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในปีหน้า ซึ่งโมดีจะลงสมัครเพื่อสานต่ออำนาจเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 120 รายในรัฐมณีปุระตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จากการปะทะกันระหว่างชาวเมเตที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ และชุมชนคูกิที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก โดยแต่ละฝ่ายต่างมีกลุ่มติดอาวุธเพื่อคอยโจมตีใส่กัน
โมดีถูกฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เวลากว่า 2 เดือน กว่าจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือแก้ไข
การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีกำหนดจะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการปราศรัยปิดท้ายของนายกรัฐมนตรี.