สิงคโปร์ผ่านกฎหมายต่อต้านต่างชาติแทรกแซงการเมือง

สภาผู้แทนราษฎรของสิงคโปร์ลงมติผ่านกฎหมายที่จะให้อำนาจกว้างขวางแก่รัฐบาลในการจัดการกับการแทรกแซงทางการเมืองโดยต่างชาติ แต่ฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหววิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ

เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานเมื่อวันอังคารว่า สภาผู้แทนราษฎรของสิงคโปร์อภิปรายร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ (FICA) ฉบับนี้อย่างมาราธอนจนถึงเกือบเที่ยงคืนของวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 ก่อนที่จะลงมติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ 75 เสียง คัดค้าน 11 เสียง และงดออกเสียง 2 คน และทำให้ประเทศเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ ซึ่งอ้างว่ามีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติ เป็นประเทศล่าสุดต่อจากออสเตรเลียและรัสเซียที่ผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้

กฎหมายนี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางการบังคับผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มอบข้อมูลของผู้ใช้งาน, ปิดกั้นเนื้อหา, และลบแอปพลิเคชันที่ใช้ในการแพร่กระจายเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นปรปักษ์ นอกจากนี้ กลุ่มหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศอาจถูกจัดว่าเป็น "บุคคลที่มีนัยสำคัญทางการเมือง" ซึ่งจะต้องเปิดเผยแหล่งเงินทุนที่ได้มาจากต่างประเทศและต้องอยู่ภายใต้ "มาตรการตอบโต้" เพื่อลดความเสี่ยงของการก้าวก่ายจากต่างแดน ผู้ฝ่าฝืนมีทั้งโทษจำคุกหรือปรับ

รอยเตอร์กล่าวว่า การพิจารณาคดีนี้จะขึ้นกับคณะตุลาการอิสระที่มีผู้พิพากษาเป็นประธาน รัฐบาลอ้างว่ากระบวนการนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ การตัดสินของตุลาการถือเป็นที่สุด

กฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุมถึงการสร้างหุ้นส่วนในต่างประเทศ, การชักชวนทำธุรกิจในต่างแดน, การร่วมเครือข่ายกับต่างชาติ, การจัดหาเงินบริจาค หรือผู้ที่หารือนโยบายหรือประเด็นการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขากับเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติหรือหุ้นส่วนธุรกิจ หรือการสนับสนุนด้านการกุศล "ตราบใดที่เป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความพยายามบิดเบือนวาทกรรมทางการเมือง หรือบ่อนทำลายผลประโยชน์สาธารณะ เช่น ความมั่นคง" เค. ชานมูกัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อสภา

นักวิจารณ์บางคนมองว่า การใช้ถ้อยคำกว้างๆ ในกฎหมายฉบับนี้ทำให้กิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายตกอยู่ในความเสี่ยงไปด้วย องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวว่า กฎหมายนี้อาจวางกับดักสื่ออิสระ ส่วนฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์เอเชีย วิจารณ์ว่า สิงคโปร์สร้างภาพอิทธิพลต่างชาติเป็นปีศาจ เพื่อขยายความชอบธรรมในการดำเนินคดีกับนักการเมืองฝ่ายค้าน, นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และสื่ออิสระ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนและพรรคฝ่ายค้านของสิงคโปร์เรียกร้องให้จำกัดขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหารให้แคบลง และเพิ่มการกำกับดูแลผ่านระบบตุลาการมากขึ้น

ยูจีน ตัน อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาโดยไม่ได้มีการเสริมสร้างการตรวจสอบขอบเขตและถ่วงดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทบทวนความชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ชานมูกัมยืนกรานว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นสมดุลที่ดีที่สุดแล้ว ระหว่างการจัดการกับความเสี่ยงกับการตรวจสอบการใช้ในทางที่ผิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง