ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดประชุมค่ายประชาธิปไตยเมื่อวันพฤหัสบดี ระบุประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเผชิญการท้าทายที่ยั่งยืนและน่าตกใจ แต่นักวิเคราะห์ชี้ประชาธิปไตยในสหรัฐเลวร้ายกว่าอีกหลายประเทศ
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เปิดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่สหรัฐเชิญผู้นำประเทศประชาธิปไตยมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุมทางไกลนาน 2 วัน เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดี
ไบเดน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ท่ามกลางวิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐในรอบหลายทศวรรษ กล่าวเตือนว่า ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเผชิญการท้าทายที่ยั่งยืนและน่าตกใจ และประชาธิปไตยต้องการนักต่อสู้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
"เรายืนอยู่บนจุดเปลี่ยน เราจะยอมให้สิทธิและประชาธิปไตยเคลื่อนถอยหลังโดยไม่ถูกตรวจสอบต่อไปหรือ" ไบเดนกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำต่างๆ ให้คำมั่นที่เป็นรูปธรรมระหว่างการประชุมครั้งนี้ โดยรัฐบาลของเขานำร่องด้วยการรับปากโครงการช่วยเหลือมูลค่า 424 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยปกป้องเสรีภาพสื่อ, ต่อสู้กับการคอร์รัปชัน และสนับสนุนการเลือกตั้งเสรีทั่วโลก
ทำเนียบขาวคุยว่า การประชุมครั้งนี้ ซึ่งนอกจากผู้นำรัฐบาลยังมีเอ็นจีโอ, ธุรกิจเอกชน, องค์กรการกุศลและสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าร่วมด้วย เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐในการต่อสู้ที่ดำรงอยู่ ระหว่างระบอบประชาธิปไตย กับเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมที่ทรงพลัง
รัฐบาลสหรัฐตั้งใจไม่เชิญรัสเซียและจีนที่ถูกระบุว่าเป็นตัวแทนรัฐเผด็จการ และทำให้รัสเซียและจีนตอบโต้อย่างรุนแรง "ไม่มีประเทศใดมีสิทธิที่จะตัดสินภูมิทัศน์ทางการเมืองที่กว้างใหญ่และหลากหลายของโลกด้วยบรรทัดฐานอันเดียว" อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซีย และฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐ กล่าวในถ้อยแถลงร่วมที่ออกเมื่อเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ รายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญและไม่ได้รับเชิญก็เป็นประเด็นวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน ว่าสหรัฐใช้มาตรฐานใดในการกำหนดว่าประเทศไหนไม่ควรได้รับเชิญเพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทุจริตเลือกตั้ง เช่น ปากีสถานและฟิลิปปินส์ได้รับเชิญ ขณะที่ฮังการีซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่มีรัฐบาลชาตินิยม กลับไม่ได้รับเชิญ หรือประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิลที่นิยมขวา ได้รับเชิญ แต่ตุรกีที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐในนาโต กลับโดนเมิน
ไบเดนจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้โดยที่ตัวเขาเองก็กำลังต้องดิ้นรนกู้ศรัทธาต่อประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้งปี 2563 โดยที่สื่อหลายสำนักที่เข้าข้างทรัมป์ เช่น ฟ็อกซ์นิวส์ ยังช่วยแพร่กระจายคำโกหกเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้ง ที่ทรัมป์อ้างว่าคะแนนของเขาหายไปหลายสิบล้านคะแนน
การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของทรัมป์กระตุ้นให้ผู้สนับสนุนเขาบุกโจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ คลื่นสะท้อนจากเหตุการณ์น่าตกใจครั้งนั้นยังดังก้องอยู่ และมีความหวาดกลัวว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสปีหน้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ทรัมป์อาจพยายามกลับมาอีกครั้ง
บรูซ เจนเทิลสัน อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยดุค กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่เคยเป็นความคิดที่ดี
"ปัญหาของเราที่นี่เลวร้ายว่าในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกอื่นๆ มากนัก อาคารรัฐสภาของเราถูกโจมตี เป็นความพยายามก่อรัฐประหาร เราไม่เคยเห็นสิ่งนี้เกิดในปารีส หรือที่รัฐสภาเยอรมนี หรือที่สำนักงานใหญ่อียูในกรุงบรัสเซลส์" นักวิชาการผู้นี้กล่าว "ถ้าเราต้องแข่งขัน เราต้องทำให้ดีที่สุด และนั่นขึ้นอยู่กับพวกเราในประเทศนี้ มากกว่าการรวบรวมผู้นำ 100 คนแล้วพูดว่า 'เราชอบประชาธิปไตย'"