ทายาททางการเมืองและในชีวิตจริงของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ยืนยันถึงความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่พรรคของเขาได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นแบบไม่เหลือที่ว่างให้ระบบคานอำนาจได้ทำงานในสภา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าการเลือกตั้งไม่เสรียุติธรรม
แฟ้มภาพ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา (ซ้าย) และฮุน มาเนต ลูกชายซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่าฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชามาเกือบ 40 ปี และทำให้ประเทศเงียบสงัดจากการคัดค้านต่อต้าน, ประชาชนสูญเสียเสรีภาพในการพูด และการปฏิรูปประชาธิปไตยไม่เดินหน้า แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเตรียมการผลักดันการถ่ายโอนอำนาจสู่ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของเขา
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กรกฎาคมสิ้นสุดลง และพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน ได้ออกมาประกาศชัยชนะอย่างถล่มทลาย สหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ประณามการเลือกตั้งดังกล่าวที่พรรคของนายกรัฐมนตรีกัมพูชากวาดที่นั่งอย่างไม่เป็นทางการในสภาผู้แทนฯ ไปได้กว่า 120 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง
แต่ฮุน มาเนต โพสต์ข้อความแห่งชัยชนะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง และยกย่องการทำงานหนักของพรรคตนจนเป็นที่ยอมรับจากประชาชน
"ชาวกัมพูชาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนผ่านการลงคะแนนเสียง และคนจำนวนมากแสดงการสนับสนุนพรรคประชาชน ผมขอขอบคุณชาวกัมพูชาที่เลือกลงคะแนนเสียงให้กับเรา รวมทั้งความรักและความเชื่อมั่นในพรรคของเรา" ฮุน มาเนตกล่าว
อย่างไรก็ดี การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ แม้พรรคของฮุน เซนและลูกชายจะรีบประกาศชัยชนะไปก่อนแล้ว
พรรคฟุนซินเปกซึ่งเป็นแนวร่วมรัฐบาลที่นำโดยเจ้าชายนโรดม จักราวุธ คาดว่าจะคว้าไปได้ 5 ที่นั่ง และทำให้รัฐสภารอบนี้มีความหลากหลายมากขึ้นเล็กน้อย หลังจากพรรคประชาชนกัมพูชากวาดทุกที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งก่อน
ชาวกัมพูชาออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นการจัดฉากสานต่ออำนาจ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์ไม่ให้พรรคแสงเทียนลงทะเบียนเข้ารับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยพรรคแสงเทียนถือเป็นคู่แข่งรายเดียวที่สามารถขับเคี่ยวกับพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซนได้
สหรัฐฯ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ "ไม่เสรีหรือยุติธรรม" โดยชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของการคุกคามต่อฝ่ายค้านทางการเมือง, สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม
"การกระทำเหล่านี้ปฏิเสธเสียงและทางเลือกของชาวกัมพูชาในการกำหนดอนาคตของประเทศ" แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงเมื่อวันจันทร์
เขากล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังเตรียมออกมาตรการจำกัดวีซ่ากับบุคคลบางคน ในฐานะตัวการบ่อนทำลายประชาธิปไตย และจะระงับโครงการช่วยเหลือบางอย่าง
ในช่วงหลายเดือนก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ เสรีภาพในการพูดถูกจำกัดอย่างหนัก โดยหนึ่งในสื่ออิสระที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งอย่าง Voice of Democracy ก็ถูกปิดลงในเดือนกุมภาพันธ์ และฮุน เซน สั่งให้เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้ง โดยห้ามใครก็ตามที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ให้มีส่วนร่วมในการลงชิงชัยการเมือง
ประเด็นร้อนจากการเลือกตั้งล่าสุดมีเพียงการสอบสวนคน 27 คนในข้อหายุยงให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทำลายบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ตามรายงานของกระทรวงมหาดไทยฯ
การจงใจทำให้บัตรลงคะแนนเป็นโมฆะเป็นวิธีหนึ่งสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการแสดงความไม่พอใจต่อการปกครองของฮุน เซน และการกระทำดังกล่าวได้รับการยุยงปลุกปั่นจากฝ่ายตรงข้ามอย่างสม รังสี หัวหน้าฝ่ายค้านที่ถูกเนรเทศและเป็นศัตรูตัวฉกาจของฮุน เซน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉแผน ผลประโยชน์ทับซ้อน 'ทักษิณ' เคยเป็นที่ปรึกษานายกฯกัมพูชา ที่มีข้อพิพาททางทะเล
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็น ประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ว่า