การโจมตีด้วยโดรนของยูเครนในไครเมียทำให้คลังกระสุนระเบิดขึ้นจนต้องเร่งอพยพผู้คน และการจราจรทางรถไฟต้องถูกระงับ
(Photo by Viktor KOROTAYEV / Kommersant Photo / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า เพียง 5 วันหลังส่งโดรนทำลายสะพานสำคัญของรัสเซียที่ข้ามช่องแคบเคิร์ช กองกำลังยูเครนเดินหน้าโจมตีพื้นที่บนคาบสมุทรไครเมียซึ่งถูกรัสเซียผนวกดินแดนไปเมื่อหลายปีก่อน
ไครเมียซึ่งถูกผนวกโดยรัฐบาลมอสโกในปี 2557 ตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังยูเครนตลอดการสู้รบ 17 เดือนกับรัสเซีย และเริ่มถูกโจมตีรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในปฏิบัติการโต้กลับเพื่อยึดคืนดินแดนที่เสียให้แก่รัสเซีย ยูเครนได้แสดงท่าทีชัดเจนมากขึ้นว่ามีเป้าหมายที่จะยึดคาบสมุทรแห่งทะเลดำกลับคืนมา ตามคำประกาศของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เมื่อวันศุกร์
เขากล่าวว่า รัฐบาลเคียฟถือว่าสะพานไครเมียซึ่งทำพิธีเปิดโดยผู้นำรัสเซียในปี 2561 เป็น "เป้าหมายทางศัตรู"
และไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา เซอร์เก อักซีนอฟ หัวหน้าฝ่ายบริหารของไครเมีย แถลงว่า โดรนของ "ศัตรู" ได้โจมตีคลังกระสุนจนเกิดระะเบิดรุนแรงในเขตครานอฟฟราเดสกี ใจกลางแหลมไครเมีย
เขาไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเหตุโจมตีเกิดขึ้นบริเวณใด และสั่งให้อพยพผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในระยะ 5 กิโลเมตรจากพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่เปิดเผยจำนวน
อักซีนอฟรายงานว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่วิดีโอที่ไม่ได้รับการยืนยันบนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มควันที่พวยพุ่งขึ้นไปในอากาศอย่างน่าตกใจ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า จะมีการหยุดการจราจรทางรถไฟบนคาบสมุทรฯเพื่อลดความเสี่ยง รวมทั้งรถไฟทุกสายที่มุ่งหน้าไครเมีย
ทั้งนี้ การจราจรบนถนนข้ามสะพานไครเมียเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่จะสามารถเดินทางเข้าออกไครเมียได้เนื่องจากเที่ยวบินถูกยกเลิกตั้งแต่เกิดการสู้รบ และสะพานฯเพิ่งโดนโจมตีจากยูเครนจนเสียหายเมื่อวันอังคาร ทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปอีก 2 ราย
การโจมตีไครเมียของยูเครนทำให้พันธมิตรตะวันตกจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของเซเลนสกีในการยึดคืนดินแดนที่ถูกผนวก โดยเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกับรัสเซียในวงกว้างขึ้น ขณะที่รัสเซียเพิ่งกล่าวหาว่ายูเครนใช้กลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องห้าม (ระเบิดลูกปราย) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนรัสเซีย ซึ่งอาวุธดังกล่าวได้มาจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีทำเซอร์ไพรส์ ไปเยือนยูเครนแบบฉุกละหุก
นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม