จากความพยายาม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ในที่สุดอินเดียสามารถเปิดตัวจรวดเพื่อลงจอดยานอวกาศไร้คนขับบนพื้นผิวดวงจันทร์ และจะกลายเป็นประเทศลำดับที่ 4 หากประสบความสำเร็จ
จรวดขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) ซึ่งบรรทุกยานอวกาศจันทรยาน-3 (Chandrayaan-3) กำลังถูกปล่อยออกจากศูนย์อวกาศศรีหริโกตาซึ่งเป็นเกาะนอกบริเวณชายฝั่งทางใต้ ในรัฐอานธรประเทศของอินเดีย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (Photo by various sources / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า อินเดียทำการปล่อยจรวดที่บรรทุกยานอวกาศจันทรยาน-3 (Chandrayaan-3) จากศูนย์อวกาศศรีหริโกตา ในรัฐอานธรประเทศบริเวณชายฝั่งทางใต้ ท่ามกลางสักขีพยานหลายพันคนที่ปรบมือและโห่ร้องด้วยความยินดี
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมีโครงการด้านการบินและอวกาศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ไล่ตามความสำเร็จของมหาอำนาจด้านอวกาศทั่วโลก
จันทรยาน-3 ซึ่งแปลว่า "ยานพระจันทร์" ในภาษาสันสกฤต เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่สามโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) ประกอบด้วยยานลงจอดชื่อวิกรม (Vikram) ซึ่งแปลว่า "ความกล้าหาญ" และยานสำรวจชื่อปรัชญาณ (Pragyan) ซึ่งแปลว่า "ปัญญา"
ความพยายามครั้งล่าสุดของอินเดียที่จะลงจอดยานอวกาศบนดวงจันทร์ จบลงด้วยความล้มเหลวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ภายหลังประสบปัญหาด้านการควบคุมภาคพื้นดินจนทำให้ขาดการติดต่อกับยาน (จันทรยาน-2) ก่อนถึงพื้นผิวดวงจันทร์ และมีการยืนยันพบซากยานในเดือนธันวาคม 2562
ก่อนหน้านี้มีเพียงรัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และจีนเท่านั้นที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
หากภารกิจที่เหลือของอินเดียเป็นไปตามแผน จันทรยาน-3 จะลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนฝรั่งเศส กล่าวชื่นชมว่าภารกิจนี้ถือเป็น "ความหวังและความฝันของชาติ"
ทั้งนี้เมื่อจันทรยาน-3 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ มันจะปล่อยรถโรเวอร์สำรวจอวกาศภาคพื้นออกจากวิกรม และทำการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้นจึงรวบรวมภาพถ่ายและส่งกลับมายังโลกเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยภารกิจสำรวจจะมีเวลา 14 วัน.