ตำรวจปานามายึดครีบฉลามมากกว่า 6 ตันที่เตรียมพร้อมมุ่งหน้าสู่เอเชีย และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมาย 5 คน
ครีบฉลามบางส่วนจากจำนวน 6.79 ตันที่ตำรวจปานามายึดได้ในเมืองคาปิรา ห่างจากกรุงปานามาซิตี้ไปทางตะวันตก 60 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม (Photo by Handout / Panama National Police / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า การค้าครีบฉลามในตลาดมืดมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ต่อปี และปีที่แล้วปานามาเป็นหัวหอกระดับนานาชาติในการปกป้องฉลามหลายสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์
ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี ตำรวจปานามาตรวจพบและยึดครีบฉลาม 6.79 ตันจากตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตที่เตรียมส่งออกไปยังเอเชีย พร้อมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมาย 5 คน
อัยการสูงสุดของปานามากล่าวในการแถลงข่าวว่า ครีบฉลามที่ยึดได้ส่วนใหญ่ถูกทำให้แห้งแล้วเพื่อเตรียมส่งออก โดยมีปลายทางในเอเชีย ซึ่งอาจทำเงินได้สูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34,000 บาท)
ครีบฉลามนิยมนำไปทำอาหารที่เรียกว่า ซุปหูฉลาม ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะแถบเอเชียตะวันออกและมักรับประทานในงานแต่งงานและงานเลี้ยงหรู นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในบางประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่น ว่าครีบฉลามมีสรรพคุณในการชะลอวัย, เพิ่มความอยากอาหาร, ช่วยให้ความจำดี และกระตุ้นความต้องการทางเพศ
เบื้องต้น ทางการปานามาสงสัยว่าครีบฉลามที่ถูกยึดได้ อาจเตรียมส่งให้กับชาวจีนที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในกิจกรรมนี้
ระหว่างปฏิบัติการจับกุม ตำรวจยังยึดปืนพกพร้อมใบอนุญาตที่หมดอายุและเอกสารการโอนเงิน อีกทั้งยังค้นพบศูนย์จัดเก็บและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการค้าผิดกฏหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ บุคคลทั้งห้าที่ถูกจับกุมจะถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 การประชุมสุดยอดปานามาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมี 183 ประเทศและสหภาพยุโรปเข้าร่วม มีมติให้คุ้มครองฉลามอีก 54 สายพันธุ์ ท่ามกลางสถานการณ์ลักลอบค้าครีบฉลามที่กำลังเฟื่องฟู
จากข้อมูลของ Pew Environment Group ฉลามประมาณ 63 ล้านถึง 273 ล้านตัวถูกฆ่าตายในทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องการครีบและส่วนอื่นๆ ของพวกมัน
ในหลายพื้นที่ของโลก ชาวประมงที่จับฉลามได้มักจะตัดเฉพาะครีบของมันเก็บไว้ จากนั้นโยนฉลามกลับลงไปในมหาสมุทรให้ตายอย่างโหดร้ายด้วยการหายใจไม่ออกหรือเสียเลือด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กษัตริย์สเปนประสงค์เสด็จเยือนพื้นที่น้ำท่วมอีกครั้ง คราวนี้โดยปราศจากพระราชินี
ภัยพิบัติจากพายุในสเปนซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย สร้างความไม่พอใจให้พลเมืองทั้งประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีเ
เนเธอร์แลนด์เริ่มเข้มงวดกับนโยบายคนพลัดถิ่น ตั้งแต่ธันวาคมจะมีการคุมเข้มชายแดน
การจ่ายเงินช่วยเหลือจะถูกยกเลิก กฎหมายผู้ลี้ภัยจะเข้มงวดมากขึ้น และอีกไม่ช้าจะมีการคุมเข้มชายแดนด้วย เนเธอร์