สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านวัตถุดิบเพื่อลดการครอบงำของจีน
ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (กลาง), เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (ขวา) และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น (ซ้าย) ร่วมแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 29 ที่อาคารสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม (Photo by JOHN THYS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า สหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 29 ที่อาคารสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมุ่งเน้นวาระความร่วมมือด้านวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นประเด็นการประสานงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อลดการพึ่งพาจีน รวมถึงขยายแหล่งผลิตใหม่ๆเพื่อเป็นตัวเลือกในตลาดหลัก
ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป, เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น เสร็จสิ้นการหารือร่วมกันและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
การประชุมของพวกเขาได้มีการบรรลุข้อตกลงในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงและบทบาทปัจจุบันของญี่ปุ่นที่เป็นประธานกลุ่มจี7 อันมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าชาติมหาอำนาจตะวันตก
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่า สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นกำลังเปิดตัวการเจรจาเชิงกลยุทธ์ เพื่อประสานงานเกี่ยวกับ "ความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อสันติภาพและความมั่นคง" ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย
"สงครามในยูเครนแสดงให้เห็นแล้วว่าห่วงโซ่อุปทานต่างๆ สามารถหยุดชะงักได้" เธอกล่าว และเสริมว่า "หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นคือ การพึ่งพาอาศัยกันด้านวัตถุดิบซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์เพียงไม่กี่ราย ซึ่งหลายรายมีฐานอยู่ในจีน"
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นด้วยกับความจำเป็นในการร่วมมือกัน แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อจีนโดยตรงก็ตาม
"เรายินดีกับแนวทางนี้ (ร่วมกับสหภาพยุโรป) เนื่องจากประเทศและพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกันจะมอบความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ" เขากล่าว และเสริมว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป และประเทศที่มีความคิดเหมือนกัน ต้องประสานงานและตอบสนองเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยง"
คิชิดะยังกล่าวอีกว่า "ในห่วงโซ่อุปทานสำหรับชิปคอมพิวเตอร์ พวกเรากำลังทำงานร่วมกันเกี่ยวกับทักษะขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์"
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่าพวกเขาต้องการทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เอไอทั้งหลายที่พวกเขาพัฒนาขึ้น จะไม่ตกอยู่ในมือของประเทศอื่น ๆ ที่สามารถใช้เพื่อจุดประสงค์ทางทหารได้
ชัยชนะครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในการประชุมสุดยอดที่บรัสเซลส์รอบนี้ คือการที่สหภาพยุโรปยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าอาหารญี่ปุ่นจากภูมิภาคฟุกุชิมะทันที หลังถูกแบนจากผลกระทบด้านนิวเคลียร์เมื่อปี 2554
คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า อ้างอิงจากข้อมูลที่ญี่ปุ่นจัดทำ ปัจจุบันไม่มีการคุกคามด้านสาธารณสุขต่อผู้บริโภคชาวยุโรปที่รับประทานพืช, ปลา และเห็ดจากฟุกุชิมะ แต่ยังคงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นตรวจสอบปลาและสาหร่ายใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหาย เพื่อหากัมมันตภาพรังสีต่อไป.